วันศุกร์ที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2557

จดหมายเปิดผนึก ฉบับที่ 12 ถึงหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ

จดหมายเปิดผนึก 
สภาประชาชนปฏิวัติสันติแห่งชาติ 
ฉบับที่ 12/2557 

เรื่อง “ขอสนับสนุนให้ คสช. ยกระดับจากรัฐบาลรักษาการณ์..ขึ้นสู่..รัฐบาลเฉพาะกาล เพื่อชัย
ชนะ เพราะปัจจุบันคือ ทฤษฎีรัฐบาลเฉพาะกาล..แต่..ปฏิบัติรัฐบาลรักษาการณ์ ”

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ได้ประกาศว่า.. “จะต้องก่อตั้งรัฐบาลเฉพาะกาลเพื่อสร้างระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริงสมบูรณ์” ซึ่งเป็นแนวทางหรือหลักนโยบาย(Line หรือ Program หรือ Platform) ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ที่เข้าควบคุมอำนาจเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ซึ่งเป็นการสะท้อนภาพความต้องการของชาติและประชาชนมาเป็นเวลานับกว่า 100 ปี อย่างถูกต้อง

แต่เมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริง(Fact) ที่เป็นรูปธรรม คือ โรดแม็ป และรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ. 2557 และสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่เปิดสภาวันที่ 7 สิงหาคม 2557 แล้ว กลายเป็นรัฐบาลรักษาการณ์(Caretaker Government) ไม่ใช่รัฐบาลเฉพาะกาลการณ์(Provisional Government) จึงเกิดเป็น... “ปรากฏการณ์ทฤษฎีรัฐบาลเฉพาะกาล..แต่..ปฏิบัติรัฐบาลรักษาการณ์” หรือ “ความต้องการเป็นรัฐบาลเฉพาะกาล..แต่..ปฏิบัติการเป็นรัฐบาลรักษาการณ์” ซึ่งจะทำให้ คสช. ประสบความล้มเหลวในการแก้ปัญหาชาติและประชาชนด้วยการสร้างประชาธิปไตยที่แท้จริงสมบูรณ์ ซึ่งเป็นเจตนารมณ์ที่แท้จริงของ คสช. แต่นักวิชาการของลัทธิรัฐธรรมนูญอันเป็นลัทธิเผด็จการได้บิดเบือนเจตนารมณ์อันแท้จริงและถูกต้องของ คสช. ที่ต้องการสร้างประชาธิปไตยให้สมบูรณ์ด้วยรัฐบาลเฉพาะกาล ให้เป็น.. “รัฐบาลรักษาการณ์ของระบอบเผด็จการรัฐสภาทุนผูกขาดสามานย์” เพื่อรักษาระบอบเผด็จการรัฐสภาไว้ขายชาติและกดขี่ขูดรีดเอารัดเอาเปรียบประชาชนต่อไป

ดังนั้น จึงทำให้ คสช. ต้องตกเป็นฝ่ายรับทางการเมืองอย่างรวดเร็ว สูญเสียฐานะการเป็นฝ่ายรุกทางการเมืองที่เคยมีมาตั้งแต่วันเข้าควบคุมอำนาจ 22 พฤษภาคม 2557 จึงเกิดการต่อต้านไม่ให้ คสช. มีอำนาจ ในรัฐธรรมนูญ รัฐบาล ในสภา สนช. และ สปช. โดยเฉพาะคือ ไม่ให้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และสมาชิก คสช. ไม่ให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีในกระทรวงต่างๆ จนสมาชิก คสช. เช่น พลเอกไพบูลย์ คุมฉายา ผู้ช่วย ผบ.ทบ. ได้แถลงเมื่อวันที่ 3 ในสื่อมวลชน Nation ว่า.. “หากหัวหน้า คสช.ไม่ควบนายกฯ และ คณะ คสช.ไม่นั่งกระทรวงสำคัญๆ การยึดอำนาจก็หมดความหมาย”
แต่ถ้า คสช. มีภารกิจสร้างประชาธิปไตยที่ต้องรับผิดชอบทำให้แล้วเสร็จให้จงได้ เพื่อให้เกิดความเจริญแก่ชาติและความผาสุกแก่ประชาชนทุกคนอย่างยั่งยืนยาว นานตลอดไป...การดำเนินไปเพื่อให้บรรลุความสำเร็จในภารกิจทั้งสิ้นนี้คือการ ปฏิบัติความรับผิดชอบที่ถูกต้องชอบธรรมอย่างยิ่งต่อชาติและประชาชน...นี่คือ..ความหมายที่แท้จริงของ คสช.

แต่ถ้า ไม่มีภารกิจสร้างประชาธิปไตยเพื่อความเจริญของชาติและความผาสุกของ ประชาชน ไม่ปฏิบัติภารกิจอันยิ่งใหญ่และศักดิ์สิทธิ์นี้แล้วเพราะถูกนักวิชาการลัทธิรัฐธรรมนูญบิดเบือนเจตนารมณ์อันแท้จริงของ คสช. ก็ไม่มีความหมายอะไรใดๆทั้งสิ้นต่อชาติและประชาชน ทำอะไรก็ไม่ชอบธรรมไม่ถูกต้องทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเข้ามาควบคุมอำนาจ หรือการใช้อำนาจ หรือการสืบทอดอำนาจ หรือการควบอำนาจ

ดังนั้น จึงขอเสนอต่อ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะ คสช. ได้โปรดพิจารณาแก้ไขให้ถูกตามเจตนารมณ์ ของ คสช. ให้ทันต่อสถานการณ์ก่อนจะสายเกินแก้ ดังต่อไปนี้...

ปัญหาการปกครองที่ไม่เป็นธรรมคือ ปัญหาประชาธิปไตย อันเป็นปัญหาพื้นฐานที่สุดของชาติที่ยังแก้ปัญหาไม่ตกหลังจากประเทศไทยก้าวเข้าสู่ยุคประวัติศาสตร์สมัยใหม่เมื่อ 100 ปีเศษที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงเริ่มต้นสร้างประชาธิปไตยเป็นครั้งแรกโดยพระบรมราโชบายแก้ไขการปกครอง แผ่นดินสยามด้วยมาตรการแรก คือ ทรงเปลี่ยนรัฐสมัยเก่าเป็นรัฐสมัยใหม่ คือ จากรัฐฟิวดัล (Feudal State)มาสู่ รัฐประชาชาติ (Nation State) เมื่อ ปีพ.ศ.2435

สาเหตุสำคัญที่สุด ของการแก้ปัญหาประชาธิปไตยหรือ เรียกทางวิชาการว่า “การปฏิวัติประชาธิปไตย” (Democratic Revolution) ตามอุดมการณ์ลัทธิประชาธิปไตยที่มีความมุ่งหมายไปสู่อุดมคติสังคมประชาธิปไตย ไม่สำเร็จเสร็จสิ้นเพราะไม่มีรัฐบาลเฉพาะกาลหรือ รัฐบาลเฉพาะกาลถูกขัดขวางทำลายลง เมื่อไม่มีรัฐบาลเฉพาะกาลก็ไม่มีการสร้างประชาธิปไตย รัฐบาลประจำการธรรมดา ในภาวะบ้านเมืองปกติแต่ปัจจุบันบ้านเมืองของเราไม่อยู่ในสภาวะปกติจึงต้องมีรัฐบาลเฉพาะกาลเพื่อปฏิบัตินโยบายพิเศษเพื่อแก้ปัญหาบ้านเมืองในสถานการณ์ วิกฤติ

“รัฐบาลเฉพาะกาล”(Provisional Government) เป็นรัฐบาลทำหน้าที่เป็นผู้เปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองการสร้างประชาธิปไตย คือการยกเลิกระบอบเก่าเป็นมาตรการแรกและสร้างระบอบใหม่เป็นมาตรการที่ 2 นั่นคือ การยกเลิกระบอบเผด็จการทุกรูปแบบแล้วสร้างระบอบประชาธิปไตยรูปธรรมที่เป็น มรรควิธีของการปกครอง(Method of Government) คือ ยกเลิกอำนาจอธิปไตยของคนส่วนน้อยสร้างอำนาจอธิปไตยของปวงชนคนทั้งหมด ดังเช่น มหาปฏิวัติฝรั่งเศส เมื่อปี ค.ศ.1789 ที่นักประวัติศาสตร์บันทึกไว้ในหนังสือยุโรปสมัยใหม่(Modern History of Europe) ว่า “การพังทลายของคุกบาสตีล หมายถึงการพังของระบบเก่า และสถาปนาอำนาจอธิปไตยของปวงชนขึ้น”

ดังนั้น รัฐบาลประจำการธรรมดา คือรัฐบาลผู้บริหารระบอบ รัฐบาลรักษาการณ์ คือ รัฐบาลผู้รักษาระบอบ รัฐบาลเฉพาะกาล คือรัฐบาลผู้เปลี่ยนระบอบ ฉะนั้นรัฐบาลเฉพาะกาลจึงมีนโยบายเปลี่ยนระบอบเป็นรัฐบาลผู้สร้างบ้าน รัฐบาลธรรมดาจึงมีนโยบายบริหารระบอบเป็นรัฐบาลผู้บริหารบ้าน รัฐบาลรักษาการจึงไม่มีนโยบายเป็นรัฐบาลคนเฝ้าบ้าน

การสร้างประชาธิปไตยเป็นภารกิจในระยะผ่าน(Transition Period) ของประเทศชาติ จากระบอบเผด็จการไปสู่ระบอบประชาธิปไตย อันเป็นภารกิจทางประวัติศาสตร์(Historical Mission) ภารกิจทางประวัติศาสตร์ คือภารกิจแบ่งยุคแบ่งสมัย นั่นคือ จากประเทศด้อยพัฒนา สู่ประเทศกำลังพัฒนา สู่ประเทศพัฒนาแล้วและภารกิจแบ่งยุคประวัติศาสตร์สมัย กลางสู่ยุคประวัติศาสตร์สมัยใหม่ภารกิจในระยะผ่านเป็นภารกิจที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากสถานการณ์เก่าที่ล้าหลังไปสู่สถานการณ์ใหม่ที่ก้าวหน้า การเปลี่ยนระบอบหรือโครงสร้าง คือ ภารกิจในระยะผ่านซึ่งเป็นภารกิจของรัฐบาลเฉพาะกาลโดยเฉพาะเท่านั้น

ตามหลักประชาธิปไตยแบบสากลนั้นการปกครองเฉพาะกาล หรือรัฐบาลเฉพาะกาล หมายถึงการปกครองในระยะผ่านหรือหัวเลี้ยวหัวต่อ(Turning Point) ซึ่งจะเปลี่ยนแปลงจากสถานการณ์หนึ่งไปสู่อีกสถานการณ์หนึ่ง ระยะผ่านหรือระยะข้ามจะไปถึงข้างหนึ่งได้หรือไม่อยู่ที่จะข้ามพ้นหรือไม่ เหมือนอย่างไต่เขามาจนถึงหน้าผาซึ่งจะต้องกระโดดไปสู่อีกหน้าผาหนึ่งซึ่งอยู่ชิดกัน ย่อมตัดสินด้วยการกระโดดข้ามว่าจะพ้นหรือไม่ ถ้ากระโดดไม่พ้นก็ตกเหวตาย ไม่มีวันจะไปถึงจุดหมายได้ หรือเหมือนการแข่งรถซึ่งจะต้องเลี้ยว 100 องศาจึงตัดสินด้วยการเลี้ยวถ้าพลิกกระเด็นตรงหัวเลี้ยวก็อาจคอหักตายไม่มีทางจะไปถึงหลักชัย

ฉะนั้น ระยะผ่านหรือหัวเลี้ยวหัวต่อจึงเป็นจุดสำคัญที่สุด เป็นเครื่องตัดสินชี้ขาดว่าจะเปลี่ยนแปลงได้หรือไม่ จะต้องผ่านให้ได้เสียก่อน ข้ามให้ได้เสียก่อน หรือเลี้ยวให้ได้เสียก่อน จึงจะสามารถรุดหน้าไปตามวิถีทางใหม่ได้ ความสำเร็จของการเปลี่ยนแปลงจากสถานการณ์หนึ่งขึ้นอยู่กับความสำเร็จในระยะผ่าน หรือหัวเลี้ยวหัวต่อเป็นสำคัญที่สุดในกระบวนพัฒนาของสิ่งทั้งปวง ระยะผ่านหรือหัวเลี้ยวหัวต่อคือตอนสำคัญที่สุดอย่างที่คนไทยถือกันว่าเบญจเพสคือระยะสำคัญที่สุดของชีวิต

ในประเทศต่างๆ เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงจากสถานการณ์หนึ่งไปสู่อีกสถานการณ์หนึ่งและโดยเฉพาะที่ประกอบด้วยการเปลี่ยนแปลงอันรุนแรงด้วยนั้น ก่อนที่สถานการณ์เก่าจะเปลี่ยนเป็นสถานการณ์ใหม่จะต้องมีระยะผ่านหรือหัวเลี้ยวหัวต่อ และการปกครองหรือรัฐบาลในระยะผ่านหรือในระยะหัวเลี้ยวหัวต่อนี้เอง เรียกว่า รัฐบาลเฉพาะกาล(Provisional Government)

เนื่องจาก รัฐบาลเฉพาะกาลเป็นรัฐบาลที่มีความสำคัญที่สุดเพราะเป็นรัฐบาลในหัวเลี้ยวหัวต่อ ซึ่งจะเป็นผู้ตัดสินชะตากรรมของรัฐบาลและสถานการณ์ข้างหน้า ฉะนั้นรัฐบาลเฉพาะกาลจึงมีหน้าที่และภารกิจอันสำคัญที่สุดเช่นเดียวกัน

- หน้าที่ของรัฐบาลเฉพาะกาลคืออะไร ?
ก็คือการปฏิบัติภารกิจต่างๆ ของระยะผ่านหรือหัวเลี้ยวหัวต่อให้เป็นผลสำเร็จ

- ภารกิจของรัฐบาลเฉพาะกาลคืออะไร ?
ก็คือการแก้ปัญหาพื้นฐานต่างๆ ในการเปลี่ยนสถานการณ์เก่าเป็นสถานการณ์ใหม่ให้ตกไป
เช่น ปัญหาการเมือง ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาการปกครอง ปัญหาสังคม ปัญหาวัฒนธรรม เป็นต้น

การเปลี่ยนแปลงสถานการณ์อย่างสำคัญแต่ละครั้งนั้น ย่อมหมายความถึงการเปลี่ยนแปลงในปัญหาพื้นฐานของระบบสังคมอย่างรอบด้าน มิใช่เป็นความเปลี่ยนแปลงแต่เฉพาะด้านในด้านใดด้านหนึ่ง เช่น การเปลี่ยนแปลงเมื่อ พ.ศ.2475 ทางที่ถูกจะต้องไม่เปลี่ยนเพียงแค่การปกครองแบบกษัตริย์อยู่เหนือกฎหมายมาเป็นกษัตริย์อยู่ใต้กฎหมายเท่านั้น แต่จะต้องทำให้ ระบบเศรษฐกิจเป็นประชาธิปไตย ทำให้ระบบการเมืองเป็นประชาธิปไตย แล้วทำให้การปกครองเป็นประชาธิปไตย ตามขั้นตอน และทำให้สังคม-วัฒนธรรมเป็นประชาธิปไตย

แต่การจะทำให้การปกครองเป็นแบบประชาธิปไตยนั้น ไม่มีรัฐบาลใดจะทำการปกครองให้เป็นแบบประชาธิปไตยได้ถ้าไม่ทำระบบการเมืองและระบบเศรษฐกิจให้เป็นประชาธิปไตยเสียก่อน เพราะเศรษฐกิจและการเมืองคือรากฐานของการปกครอง รัฐบาลของพระยามโนฯ และพระยาพหลฯซึ่งจากความเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่โตมโหฬารจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบรัฐธรรมนูญนั้น ย่อมจะมีลักษณะเป็นรัฐบาลเฉพาะกาลที่แท้จริง ซึ่งจะต้องแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาการเมือง ปัญหาการปกครอง และปัญหาพื้นฐานอื่นๆที่ตกค้างมาจากสมัยราชาธิปไตย กลับไม่ได้กำหนดภารกิจของตนไว้แต่อย่างใด จะเห็นได้ว่าเมื่อปฏิเสธเค้าโครงเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์ไปแล้วก็มิได้กำหนดแผนเศรษฐกิจที่ถูกต้องเหมาะสมขึ้นมาใช้แต่อย่างใดจึงกลายเป็นรัฐบาลธรรมดา ไม่ใช่รัฐบาลเฉพาะกาล

- รัฐบาลเฉพาะกาลมีลักษณะและภารกิจอย่างไร ?
โดยแท้จริงแล้วเป็นหน้าที่อย่างเด็ดขาดของรัฐบาลเฉพาะกาลที่จะต้องปฏิบัติภารกิจในระยะผ่านหรือหัวเลี้ยวหัวต่อ ซึ่งเป็นภารกิจอันใหญ่หลวงที่สุด ยากลำบากที่สุด และมีความรับผิดชอบสูงสุด ให้สำเร็จเสร็จสมบูรณ์ให้จงได้ รัฐบาลเฉพาะกาลจึงมีอำนาจสูงกว่ารัฐบาลทุกชนิด

ลักษณะของรัฐบาลเฉพาะกาลจะต้องขึ้นอยู่กับภารกิจเป็นสำคัญ ภารกิจของรัฐบาลเฉพาะกาล คือ แก้ปัญหาพื้นฐานของชาติทั้งสิ้น เช่น ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาการเมือง ปัญหาการปกครอง ปัญหาสังคมวัฒนธรรม ฯลฯ โดยเฉพาะคือแก้ไขระบบเศรษฐกิจให้เป็นประชาธิปไตยและดำเนินการพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติให้สำเร็จ สร้างระบบการเมืองประชาธิปไตยให้สำเร็จโดยพื้นฐาน สร้างระบอบการปกครองให้เป็นประชาธิปไตย แล้วร่างรัฐธรรมนูญให้สอดคล้องกับระบบและระบอบประชาธิปไตย ประกาศใช้รัฐธรรมนูญเมื่อระบบและระบอบประชาธิปไตยมีเสถียรภาพอย่างเป็นที่ ไว้วางใจได้ แล้วจึงเปิดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปแบบประชาธิปไตยภายใต้สถานการณ์ใหม่ที่เป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง จะได้รัฐบาลที่เกิดขึ้นตามวิถีทางรัฐธรรมนูญต่อไป ก็จะบริหารประเทศไปได้ราบรื่นตลอดไป จึงเห็นได้ว่าการที่รัฐบาลเฉพาะกาลปฏิบัติภารกิจในระยะผ่านทั้งสิ้นให้ลุล่วงจะเป็นหลักประกันพื้นฐานที่สุดต่อผลสำเร็จของการสร้างประชาธิปไตยในประเทศไทยอันเป็นภารกิจปฏิรูปประชาธิปไตย ไปสู่การปฏิวัติประชาธิปไตย หรือ “ปฏิรูปในปฏิวัติ” นั่นเอง

ดังนั้น ลักษณะของรัฐบาล คือ เป็นการปกครองเฉพาะกาลทั้งสิ้นที่มีความพร้อมและมีอำนาจเข้มแข็งเพียงพอรอบด้านที่จะสามารถปฏิบัติภารกิจในระยะผ่านให้สำเร็จเสร็จสมบูรณ์ได้ ซึ่งจะต้องประกอบด้วยองค์กรแห่งอำนาจอธิปไตยทั้ง 3 องค์กร คือ รัฐบาลเฉพาะกาล รัฐสภาเฉพาะกาล ศาลเฉพาะกาล รัฐธรรมนูญเฉพาะกาล และองค์กรบริหารต่างๆเฉพาะกาล อันเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่และก้าวหน้า จึงมีลักษณะเป็นรัฐบาลปฏิวัติ(Revolutionary Government) เรียกทางวิชาการที่ถูกต้องตามหลักวิชาการของลัทธิประชาธิปไตยว่า “รัฐบาลเฉพาะกาลปฏิวัติ”(Revolutionary Provisional Government) อันเป็นการปฏิวัติประชาธิปไตย(Democratic Revolution) เรียกทั่วไปว่า “การสร้างประชาธิปไตย” นั่นเอง

จะเห็นได้ว่า การดำรงอยู่ของรัฐบาลเฉพาะกาลนั้น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับเวลาแต่ ขึ้นอยู่กับความเสร็จสิ้นของหน้าที่และความสำเร็จของภารกิจ ถ้าหน้าที่เสร็จเร็วและภารกิจสำเร็จเร็ว รัฐบาลเฉพาะกาลก็ดำรงอยู่ในเวลาอันสั้น แต่ถ้าหน้าที่เสร็จสิ้นช้าและภารกิจ สำเร็จช้า รัฐบาลเฉพาะกาลก็ดำรงอยู่เป็นเวลานาน

รัฐบาลเฉพาะกาลและรัฐบาลชั่วคราวนั้นเป็นสิ่งเดียวกันแต่เป็นสองด้านของเหรียญ คำว่า รัฐบาลเฉพาะกาล(Provisional Government) เพื่อเน้นให้เห็นถึงหน้าที่และภารกิจเป็นสำคัญซึ่งแตกต่างจากหน้าที่และภารกิจของรัฐบาลชนิดอื่นๆ เช่น รัฐบาลปกติธรรมดา และรัฐบาลรักษาการณ์ แต่คำว่า รัฐบาลชั่วคราว(Interim Government) เพื่อเน้นให้เห็นถึงระยะเวลาความเป็นชั่วคราวมิใช่รัฐบาลปกติธรรมดา(Elected Government) หรือรัฐบาลรักษาการ(Caretaker Government)

คำว่า Provisional นั้น ในภาษาไทยใช้คำว่าชั่วคราวก็ได้ ใช้คำว่าเฉพาะกาลก็ได้ มีความหมายอย่างเดียวกัน แล้วแต่ความนิยม เช่น ถ้าใช้กับรัฐธรรมนูญ ก็ใช้ว่า “รัฐธรรมนูญชั่วคราว” ไม่ใช้คำว่า “รัฐธรรมนูญเฉพาะกาล” ใช้กับบทบัญญัติกฎหมายก็ใช้ว่า “บทเฉพาะกาล” ไม่ใช้ว่า “บทชั่วคราว”
แต่เมื่อ ใช้กับคำว่ารัฐบาลก็ใช้ทั้งสองคำ คือใช้ว่า “รัฐบาลชั่วคราว” ก็ได้ใช้ว่า “รัฐบาลเฉพาะกาล” ก็ได้บางทีเราก็ได้ยินว่ารัฐบาลชั่วคราว บางทีก็ได้ยินว่ารัฐบาลเฉพาะกาล ซึ่งแล้วแต่ใครอยากจะเลือกใช้คำไหน แต่ถ้าจะเรียก “บทเฉพาะกาล” ว่า “บทชั่วคราว”ก็จะรู้สึกแปลกประหลาดขึ้นมาทันที

ตามหลักประชาธิปไตยสากลและหลักวิชาการของลัทธิประชาธิปไตย ที่เราจะต้องเคารพยึด ถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัดจึงจะแก้ปัญหาชาติให้ตกไปได้และการเคารพหลักวิชา คือ ลักษณะของการเป็นนักประชาธิปไตย คำว่า “Government” นั้นในภาษาไทยใช้คำว่ารัฐบาลก็ได้ ใช้คำว่าการปกครองก็ได้ แต่คำว่ารัฐบาลนั้นบางทีก็หมายถึงคณะรัฐมนตรีและส่วน มากเข้าใจกันว่าหมายความถึงคณะรัฐมนตรี
ทั้งนี้ ก็เช่นเดียวกับในภาษาอังกฤษซึ่งคำว่า “Government” นั้น บางทีก็หมายความถึง “Cabinet” เหมือนกัน แต่คำว่า “การปกครอง” นั้น หมายถึงองค์กรแห่งอำนาจอธิปไตยทั้งหมด ทั้งฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร และฝ่ายตุลาการ โดยเฉพาะหมายความถึงรัฐสภาและคณะรัฐมนตรี

ดังนั้น คำว่าการปกครองจึงไม่หมายความถึงคณะรัฐมนตรีอย่างเดียว ฉะนั้น การปกครองชั่วคราวจึงหมายความถึงกลไกการปกครองชั่วคราวหลายๆอย่างรวมกัน เช่น รัฐธรรมนูญชั่วคราวรัฐสภาชั่วคราว คณะรัฐมนตรีชั่วคราว เป็นต้น องค์รวมของกลไกเหล่านี้คือการปกครองชั่วคราว หรือรัฐบาลชั่วคราว หรือรัฐบาลชั่วคราว เรียกอีกอย่างหนึ่งว่าการปกครองเฉพาะกาล หรือรัฐบาลเฉพาะกาล

ฉะนั้น ถ้าจะให้เข้าใจชัดเจนขึ้นสำหรับภาษาไทย น่าจะใช้คำว่า “การปกครองชั่วคราว” มากกว่าคำว่า รัฐบาลชั่วคราว เพราะคำว่ารัฐบาลชั่วคราวนั้นมักจะทำให้ผู้ฟังเข้าใจไปว่า หมายความถึงคณะรัฐมนตรีเท่านั้น แต่อย่างไรก็ดีเมื่อนิยมใช้คำว่ารัฐบาลชั่วคราวเสียแล้ว ก็ควรทำความเข้าใจให้ชัดว่าไม่หมายความถึงคณะรัฐมนตรีอย่างเดียว แต่หมายถึงองค์กรแห่งอำนาจอธิปไตยทั้งหมด ตลอดถึงองค์การบริหารที่สำคัญต่างๆ ด้วย

แม้คำว่า รัฐบาลชั่วคราว กับ รัฐบาลเฉพาะกาล จะใช้ได้ทั้ง 2 คำ แต่ความรู้สึกของผู้ฟังก็มีน้ำหนักไม่เท่ากัน คำว่ารัฐบาลเฉพาะกาลฟังแล้วหนักแน่นกว่ารัฐบาลชั่วคราว คำว่ารัฐบาลชั่วคราวนั้นฟังดูคล้ายกับว่าเป็นรัฐบาลที่มาอยู่ประเดี๋ยวก็ไปแล้วและไม่มีอะไรสลักสำคัญ แต่คำว่ารัฐบาลเฉพาะกาลรู้สึกคล้ายกับว่าจะอยู่นานและมีความสลักสำคัญอยู่ในตัว
ฉะนั้น น่าจะใช้คำว่ารัฐบาลเฉพาะกาลมากกว่ารัฐบาลชั่วคราว และรัฐบาลเฉพาะกาลนั้นไม่ได้หมายความถึงคณะรัฐมนตรีเฉพาะกาล แต่หมายความถึงการปกครองเฉพาะกาลตาม หลักประชาธิปไตยสากลและหลักวิชาการที่ถูกต้องในปัญหารัฐบาลเฉพาะกาล

“คำ” และ “ความ” หรือ “พยัญชนะ” และ “อรรถ” มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความสำเร็จในการแก้ปัญหาต่างๆ ซึ่งเริ่มต้นด้วยปัญหาความเห็นอันเป็นกิจกรรมแรกที่ชี้ขาดกิจกรรมทั้งปวงของมนุษย์ คำๆหนึ่งมีทั้งความหมายกว้างและความหมายแคบ หรือมีหลายความหมาย นี่คือจินตภาพของคำ(Concept) นั่นคือจะรู้ความหมายของคำได้ จะต้องรู้จินตภาพของคำนั้น มีทั้งจินตภาพทั่วไป(General Concept) และจินตภาพรูปธรรม(Concrete) นั่นคือจะรู้ความหมายของคำได้จะต้องรู้จินตภาพรูปธรรมมิใช่แค่รู้จิตนภาพทั่วไปเท่านั้น เช่น คำว่ารัฐบาลเฉพาะกาล

พระพุทธเจ้าทรงมีระยะผ่านอยู่ประมาณ 6 ปี จากเจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกผนวชทรงแสวงโมกษธรรม เริ่มต้นด้วยการแสวงหาและการปฏิบัติตามทฤษฎีผิดมิจฉาทิฏฐิ และทรงยกเลิกยึดถือและปฏิบัติทฤษฎีผิดนั่นคือ เลิกบำเพ็ญทุกขกริยาทรมานตนเพื่อความพ้นทุกข์ และทรงค้นพบอริยสัจ 4 ที่มีมรรคมีองค์ 8 ประการ ซึ่งเป็นสัมมาหรือถูกต้องทั้งหมด จึงนำไปสู่การพ้นทุกข์บรรลุมรรคผลนิพพาน

ขั้นตอนเสด็จออกผนวชเป็นการเลิกการเป็นรัฐบาลปกติมาเป็นรัฐบาลเฉพาะกาล เริ่มเป็นรัฐบาลเฉพาะกาลที่ถูกต้องครบถ้วน คือ ขั้นตอนเลิกบำเพ็ญทุกขกริยาหันมาถือทฤษฎีหรือมีนโยบายถูก คือ อริยสัจ 4 แล้วมีมรรคถูกทั้ง 8 องค์ คือ เห็นถูก คิดถูก พูดถูก ทำถูก เลี้ยงชีพถูก เพียรถูก สติถูก สมาธิถูก นั่นคือ มีการปกครองเฉพาะกาลครบองค์ คือ รัฐสภาเฉพาะกาลคณะรัฐมนตรีเฉพาะกาล ศาลเฉพาะกาล รัฐธรรมนูญเฉพาะกาล กลไกบริหารต่าง ๆ เฉพาะกาล

รัฐบาลเฉพาะกาลของสมเด็จพระปกเกล้าฯ คือ สภากรรมการองคมนตรี ที่ทำหน้าที่เป็นสภาผู้แทนราษฎรชั่วคราวและรัฐธรรมนูญชั่วคราว ที่จะทรงโอนอำนาจและพระราชทานรัฐธรรมนูญให้แก่ราษฎรทั้งหลายในวันฉลองกรุง 150 ปี วันที่ 6 เมษายน 2475 แต่ถูกท้วงติงให้ทรงศึกษาและวางแผนให้รอบด้านจึงทรงเลื่อนออกไป จนเกิดเหตุการณ์ 24 มิถุนายน 2475 รัฐบาลเฉพาะกาลของสมเด็จพระปกเกล้าฯถูกขัดขวางทำลายลงตั้งแต่บัดนั้นมาโดย คณะราษฎร จึงไม่อาจปฏิบัติหน้าที่และภารกิจในระยะผ่านจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาสู่ระบอบประชาธิปไตยได้

รัฐบาลเฉพาะกาลของพระยามโนฯและพระยาพหลฯ หลังเปลี่ยนแปลง 24 มิถุนายน 2475 ที่เกิดการเปลี่ยนแปลงจากสถานการณ์เก่าเป็นสถานการณ์ใหม่ เปลี่ยนระบอบเก่าสู่ระบอบใหม่ จึงจะมีลักษณะเป็นรัฐบาลเฉพาะกาล คือ มีรัฐธรรมนูญเฉพาะกาลชื่อว่า “พระราชบัญญัติธรรมนูญปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราวพ.ศ.2475” มีรัฐสภาเฉพาะกาลเรียกว่า “สภาผู้แทนราษฎร” และมีคณะรัฐมนตรีเฉพาะกาลเรียกว่า “คณะกรรมการราษฎร”
แต่คณะราษฎรไม่ปฏิบัติภารกิจในระยะผ่านของรัฐบาลเฉพาะกาล คือ ทำให้ระบบเศรษฐกิจเป็นประชาธิปไตย ทำให้ระบบการเมืองเป็นประชาธิปไตย ทำให้การปกครองเป็นประชาธิปไตย ทำให้สังคม-วัฒนธรรมเป็นประชาธิปไตย หรือแก้ปัญหาพื้นฐานของชาติทุกปัญหาให้ตกไป จนทำให้รัฐบาลเฉพาะกาลกลายเป็นรัฐบาลปกติธรรมดาจึงพังไปในที่สุด

ในการปฏิวัติ 20 ตุลาคม 2501 ก็มีรัฐบาลเฉพาะกาล ประกอบด้วยธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรพุทธศักราช 2502 สภาร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งทำหน้าที่สภานิติบัญญัติด้วย และคณะรัฐมนตรีเฉพาะกาล ซึ่งมีจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี และเมื่อจอมพลสฤษดิ์ถึงแก่อนิจกรรม จอมพลถนอม กิตติขจร ก็เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป ได้กำหนดภารกิจในระยะผ่านของรัฐบาลเฉพาะกาลในประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 11ลงวันที่ 22 ตุลาคม 2501 ว่า “จะนำเอาหลักนิยมในระบอบประชาธิปไตยมาปรับปรุงให้เหมาะสมกับความเป็นอยู่ของประชาชนชาวไทย” แต่หาได้ปฏิบัติให้ปรากฏเป็นจริงแต่อย่างไรไม่ จบลงด้วยความล้มเหลวในที่สุด

ในการยึดอำนาจ 17 พฤศจิกายน 2514 ก็มีรัฐบาลชั่วคราว หรือรัฐบาลเฉพาะกาลประกอบด้วยธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2514 สภานิติบัญญัติแห่งชาติและคณะรัฐมนตรี ซึ่งมีจอมพลถนอม เป็นนายกรัฐมนตรี ดังเช่น นโยบายพรรคสหประชาไทยและนโยบายต่อสู้เอาชนะคอมมิวนิสต์ที่ว่า “จะชนะคอมมิวนิสต์ต้องสร้างประชาธิปไตยให้สำเร็จสร้างประชาธิปไตยให้สำเร็จจะชนะคอมมิวนิสต์” แต่รัฐบาลจอมพลถนอมไม่สร้างประชาธิปไตยอันเป็นภารกิจของรัฐบาลเฉพาะกาล ไม่ยอมให้มีรัฐธรรมนูญกลับยกเลิกพรรคสหประชาไทยและทำรัฐประหารตนเองจึงพังลง ไปในที่สุด

หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงโปรดเกล้าฯให้มีรัฐบาลเฉพาะกาลโดยมีนายสัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี และเข้าเฝ้าถวายสัตย์ปฏิญาณ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานพระบรมราชโองการแก่รัฐบาลเฉพาะกาลของนาย สัญญา ธรรมศักดิ์ ว่า “ให้มีการปกครองแบบประชาธิปไตยที่เหมาะสมกับประเทศชาติ” แต่ในที่สุดนายสัญญา ธรรมศักดิ์ ไม่สามารถปฏิบัติภารกิจในระยะผ่านของรัฐบาลเฉพาะกาลได้ โดยเข้าใจผิดว่ารัฐบาลตนเองเป็นรัฐบาลรักษาการณ์จึงพังไปในที่สุดด้วยการลาออก

รัฐบาลพลเอกเปรมติณสูลานนท์ เมื่อปี พ.ศ.2523 ได้ก่อกำเนิดนโยบาย 66/23 อันเป็นนโยบายต่อสู้เพื่อเอาชนะคอมมิวนิสต์ด้วยการสร้างประชาธิปไตย ซึ่งมียุทธศาสตร์ 2 ขั้นตอน คือ เอาชนะสงครามด้วยการสร้างประชาธิปไตยระดับต่ำ เอาชนะคอมมิวนิสต์ด้วยการสร้าง ประชาธิปไตยระดับสูง รัฐบาลพลเอกเปรมจึงเป็นรัฐบาลเฉพาะกาลอย่างเป็นไปเอง สามารถปฏิบัตินโยบาย 66/23 ขั้นตอนที่ 1 ได้สำเร็จอย่างงดงาม คือ สามารถยุติสงครามกลางเมืองลงได้ แต่ในขั้นตอนที่ 2 คือ ขยายเสรีภาพของบุคคลและขยายอำนาจอธิปไตยของปวงชนบรรลุการปกครองแบบประชาธิปไตย รัฐบาลพลเอกเปรมไม่ปฏิบัติให้แล้วเสร็จ จึงกลายเป็นรัฐบาลธรรมดา และพลเอกเปรมลาออกไปในที่สุด

ในการทำรัฐประหารโดยคณะ รสช. ได้เกิดรัฐบาลเฉพาะกาลขึ้นอย่างเป็นไปเอง เพราะคำประกาศ 5 ข้อในการยึดอำนาจที่สำคัญ คือ ยกเลิกเผด็จการรัฐสภา สร้างประชาธิปไตย แต่คณะ รสช. กลับไม่เป็นรัฐบาลเองและไม่ปฏิบัติคำประกาศ 5 ข้อนั้น กลับให้นายอานันท์ ปัณยารชุน เป็นรัฐบาล เป็นรัฐบาลไม่มีการปฏิบัตินโยบายของคณะ รสช. ในที่สุดพลเอกสุจินดาคราประยูร ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีก็ไม่สร้างประชาธิปไตยตามนโยบาย 5 ข้อของตนเองจึงถูกนิสิตนักศึกษาประชาชนลุกขึ้นขับไล่โค่นล้มจนเกิดเหตุการณ์ พฤษภาทมิฬ 2535 รัฐบาลพลเอกสุจินดาจึงพังไป

หลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ได้เกิดรัฐบาลอานันท์ฟื้นฟูชาติซึ่งก็เป็นรัฐบาลเฉพาะกาล แต่นายอานันท์กลับไม่ยอมปฏิบัติภารกิจในระยะผ่านฟื้นฟูชาติด้วยการสร้างประชาธิปไตยแล้วในที่สุดก็พังไป

ต่อมา คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข(คปค.) ได้ทำการรัฐประหารรัฐบาลทักษิณเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 โดยต่อมาได้เปลี่ยนเป็นคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติหรือ คมช. แล้วจัดตั้งรัฐบาลพลเอกสุรยุทธขึ้น ซึ่งก็คือรัฐบาลเฉพาะกาลที่ คปค. ตั้งขึ้นเพื่อปฏิบัติการแก้ปัญหาตามเงื่อนไข 4 ประการของการยึดอำนาจนั่นเอง แต่รัฐบาลพลเอกสุรยุทธ ละเลยไม่ปฏิบัติภารกิจดังกล่าวให้แล้วเสร็จ จึงกลายเป็นเพียงรัฐบาลรักษาการณ์ รอการร่างรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จแล้วเปิดให้มีการเลือกตั้งเท่านั้น ภารกิจทั้งปวงของ คมช. จึงล้มเหลว

ต่อมาหลังจากการเลือกตั้งทั่วไป รัฐบาลจากการเลือกตั้งของนายสมัคร สุนทรเวช ได้ขึ้นปกครองเป็นรัฐบาลประจำการแล้วดำเนินนโยบายปกครองด้วยนโยบายปกติทั่วไป ซึ่งไม่สอดคล้องกับสถานการณ์วิกฤติที่คั่งค้างจากความล้มเหลวของรัฐบาลสุรยุทธ ทำให้ความแตกแยกขยายผล ผู้คนในชาติแตกความสามัคคีถึงขั้นเผชิญหน้ากันด้วยความรุนแรง ส่งผลเป็นวิกฤติของชาติที่ทุกฝ่ายกำลังจนมุมไม่มีทางออก

ดังนั้น จึงเห็นเป็นความจำเป็นอย่างเร่งด่วนที่สุดที่ต้องยุติสถานการณ์ความแตกแยกขั้นเผชิญหน้ากันนี้ลงด้วยการสร้างความสามัคคีปรองดองแห่งชาติขึ้น ด้วยการรับสนองพระราชดำรัส “รู้รัก สามัคคี” ตามแนวทางแห่งองค์พระประมุขของชาติ โดยขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายการเมือง ทั้งรัฐบาล ฝ่ายค้าน สมาชิกรัฐสภาทั้งมวลและฝ่ายการเมืองภาคประชาชน ให้หันมาร่วมมือกันผลักดันให้รัฐบาลประจำการของนายกสมัคร สุนทรเวช เปลี่ยนลักษณะมาเป็นรัฐบาลเฉพาะกาล โดยให้ทุกฝ่ายได้เข้าร่วมกันในรัฐบาลเฉพาะกาลภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญ และกลไกลระบบรัฐสภาปัจจุบัน เพื่อให้เกิดความสามัคคีทางการเมืองและเพื่อสะท้อนผลประโยชน์ร่วมกันของปวงชนชาวไทย อันจะส่งผลให้เกิดความสามัคคีแห่งชาติขึ้นยุติการเผชิญหน้ากันของทุกฝ่ายลง
โดยรัฐบาลเฉพาะกาลที่ร่วมกันจัดตั้งขึ้นมานี้ ต้องปฏิบัติภารกิจในระยะเปลี่ยนผ่านให้เห็นเป็นรูปธรรมเพื่อสร้างการปกครองที่เป็นธรรมในระยะเริ่มต้นให้เกิดขึ้นในสังคมก่อน แล้วจึงไปดำเนินการตามวิธีการปกติของระบอบประชาธิปไตยตามหลักสากลต่อไป จึงยุบสภาแล้วจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ และดำเนินการให้มีรัฐบาลประจำการต่อไป โดยรัฐบาลเฉพาะกาลต้องปฏิบัตินโยบายซึ่งมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

นโยบายประชาธิปไตย เพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤติชาติของรัฐบาลเฉพาะกาล

นโยบายแห่งชาติ ซึ่งสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน อันเป็นนโยบายประชาธิปไตยที่ถูก ต้องเพื่อแก้ปัญหาการเมืองการปกครองให้เป็นธรรม คือ สร้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขแห่งรัฐ ซึ่งเป็นปัญหาพื้นฐานของชาติให้ตกไป

นโยบายด้านการเมืองการปกครอง
ต้องสถาปนาระบอบประชาธิปไตยให้สำเร็จ ระบอบประชาธิปไตยนอกจากจะเป็นความต้องการของประเทศชาติและประชาชนแล้ว ยังเป็นปัจจัยอันจำเป็นของการแก้ปัญหาทั้งปวงของชาติอีกด้วย จะต้องสร้างระบอบประชาธิปไตยให้สำเร็จจึงจะแก้ปัญหาการเมือง ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาสังคม และปัญหาวัฒนธรรม ให้ตกไปได้ จะสร้างสรรค์ระบอบประชาธิปไตยให้สำเร็จด้วยมาตรการต่อไปนี้
- เทิดทูนและพิทักษ์สถาบันพระมหากษัตริย์ พระมหากษัตริย์เป็นประมุขของชาติ
ไทยและคู่กับชาติไทยมาแต่บรรพกาล แม้ในยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ พระมหากษัตริย์ไทยก็ประกอบด้วยลักษณะประชาธิปไตยเป็นอันมากอยู่แล้ว ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของระบอบพระมหากษัตริย์ในประเทศไทย จึงเป็นการถูกต้องและจำเป็นอย่างยิ่งที่ระบอบประชาธิปไตยของไทยจะมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขแห่งรัฐ ซึ่งเป็นอุปการคุณสำคัญที่สุดไม่เฉพาะแต่ในการสร้างระบอบประชาธิปไตยให้สำเร็จเท่านั้น หากในการแก้ปัญหาพิเศษต่างๆ ซึ่งสถาบันอื่นไม่อาจแก้ปัญหาได้อีกด้วย

- ส่งเสริมความรู้ประชาธิปไตย การที่จะสร้างระบอบประชาธิปไตยให้สำเร็จก็ดี การ
ใช้ระบอบประชาธิปไตยแก้ปัญหาต่างๆของชาติก็ดี ขึ้นอยู่กับความรู้ประชาธิปไตยที่ถูกต้อง ความล้มลุกคลุกคลานของระบอบประชาธิปไตยในประเทศไทยที่ผ่านมา เป็นเพราะขาดความรู้ประชาธิปไตยที่ถูกต้อง
ฉะนั้น จะต้องส่งเสริมความรู้ประชาธิปไตยอย่างกว้างขวางทั้งในด้านทฤษฎี และด้านการ ประยุกต์ทฤษฎีกับสภาวการณ์และลักษณะพิเศษของประเทศไทย

- ทำให้อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน หัวใจของระบอบประชาธิปไตย คือ อำนาจ
อธิปไตยของปวงชน นัยหนึ่งคือ การปกครองโดยประชาชน เพื่อประชาชน แลของประชาชน แต่ความเป็นจริงอำนาจอธิปไตยยังไม่เป็นของปวงชนอย่างแท้จริง เพราะนโยบายของรัฐที่ผ่านมายังไม่สนองความต้องการของประเทศชาติประชาชน และรัฐสภาก็ยังไม่ทำหน้าที่ของผู้แทนปวงชนอย่าง แท้จริง
ฉะนั้น จึงต้องปรับปรุงนโยบายของรัฐบาล ทั้งนโยบายภายในประเทศและนโยบายต่างประเทศ ให้สอดคล้องกับความต้องการของประเทศชาติและประชาชน และปรับปรุงให้รัฐสภาทำ หน้าที่เพื่อสะท้อนประโยชน์ของปวงชนอย่างแท้จริง

- ทำให้บุคคลมีเสรีภาบุคคลบริบูรณ์ เสรีภาพของบุคคลจะมีได้ก็แต่เฉพาะภายใต้
อำนาจอธิปไตยของปวงชน เสรีภาพที่ไม่อยู่ภายใต้อำนาจอธิปไตยของปวงชนนั้น ไม่ใช่เสรีภาพที่บริบูรณ์ถ้า ไม่เป็นเสรีภาพเกินขอบเขตแบบอนาธิปไตย ก็เป็นเสรีภาที่จำกัดเกินควรแบบเผด็จการ จะต้องยกเลิกหรือแก้ไขเพิ่มเติม กฎหมายที่บั่นทอนเสรีภาพบุคคล

- สร้างเสถียรภาพทางการเมืองให้มั่นคง เสถียรภาพทางการเมือง เป็นปัจจัยอันจำเป็นของการพัฒนาระบอบประชาธิปไตย และปัจจัยอันสำคัญที่สุดของเสถียรภาพทางการเมืองก็คือ ความสนับสนุนของประชาชน และปัจจัยความสนับสนุนของประชาชนก็คือ นโยบายที่ถูกต้องและต้องปฏิบัตินโยบายนั้นให้ผลประจักษ์แก่ประชาชน

- ส่งเสริมระบบพรรคการเมืองให้เข้มแข็ง พรรคการเมืองประชาธิปไตย คือผู้แทนทางการเมืองของประชาชน ทำหน้าที่จรรโลงและพัฒนาระบอบประชาธิปไตย พรรคการเมืองที่เข้มแข็งจะต้องเป็นพรรคที่มีนโยบายสอดคล้องกับนโยบายแห่งชาติที่ถูกต้อง จะต้องมีการจัดตั้งองค์กรอย่างเป็นระบบและมีลักษณะเป็นพรรคมวลชน มิใช่เป็นเพียงพรรคสภาหรือพรรคนักการเมืองเท่านั้น
ฉะนั้น จะต้องส่งเสริมให้การสร้างพรรคการเมืองชนิดนี้บรรลุผลสำเร็จ ซึ่งเงื่อนไขประการแรก คือ จะต้องยกเลิกกฎหมายพรรคการเมือง เพื่อให้ระบบพรรคการเมืองพัฒนาไปตามธรรมชาติ

- ปรับปรุงระบบราชการให้เป็นประชาธิปไตย ระบบราชการในประเทศไทย ยังเป็นปฏิปักษ์อย่างมากต่อระบอบประชาธิปไตย จึงไม่สามารถสนองความต้องการของระบอบประชาธิปไตยได้ การปรับปรุงพัฒนาระบบข้าราชการให้เป็นประชาธิปไตยจึงเป็นปัจจัยที่จะขาดเสียมิได้ของการพัฒนาระบอบประชาธิปไตย วิธีการปรับปรุง คือ ประสานระบบราชการเข้ากับระบบพรรคการเมือง โดยให้ข้าราชการเข้าร่วมกิจกรรมของพรรคการเมืองได้อย่างเสรีซึ่งจะยังผลให้ข้าราชการได้มีจิตสำนึกทางการเมืองของตน และจิตสำนึกทางการเมืองนั้นที่จะทำให้ข้าราชการเป็นข้าราชการของ ประชาชนได้
- ส่งเสริมกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ กลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ เป็นสิ่งแสดงออกของพลังมวลชนและเป็นพลังผลักดันทางการเมืองในการพัฒนาประชาธิปไตย แต่กลุ่มผลประโยชน์ย่อมมีความขัดแย้งกัน เพราะมีผลประโยชน์แตกต่างกัน ระบอบประชาธิปไตยย่อมแก้ไขความขัดแย้งด้วยการ ไม่ทำลายกันแต่ด้วยการประสานประโยชน์ระหว่างกัน โดยการทำให้ผลประโยชน์ของแต่ละกลุ่มเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับผลประโยชน์ของชาติ โดยนายทุน กรรมกร ชาวนา นักศึกษา ฯลฯ จะคำนึงถึงผลประโยชน์ของตนฝ่ายเดียวไม่ได้ แต่จะต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ของฝ่ายอื่นด้วย โดย ***ยึดถือผลประโยชน์ของชาติเป็นหลัก ***

- ส่งเสริมสถาบันหนังสือพิมพ์และการแสดงประชามติประชาธิปไตย สถาบัน
หนังสือพิมพ์ในฐานะฐานันดร4 ย่อมเป็นกลไกอย่างหนึ่งของระบอบประชาธิปไตยนอกเหนือจากเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งของการแสดงประชามติ
ฉะนั้น ผู้ทำหนังสือพิมพ์ จึงเป็นบุคคลในสถาบันซึ่งจะต้องมีความรับผิดชอบกว่าบุคคลธรรมดา ประชามติที่ถูกต้องเท่านั้นจึงจะสอดคล้องกับผลประโยชน์ของประชาชน จึงจะเป็นประชามติ แบบประชาธิปไตย และความถูกต้องของประชามติก็มิได้วัดด้วยจำนวนคนที่แสดง แต่วัดด้วยผลประโยชน์ของประชาชนส่วนรวม ประชามติใดแม้จะแสดงด้วยคนจำนวนน้อยแต่ถ้าสอดคล้องกับผลประโยชน์ของประชาชนส่วนรวมก็เป็นประชามติแบบประชาธิปไตย
ฉะนั้น จึงต้องสนับสนุนประชามติที่ถูกต้อง

- สนับสนุนขบวนการประชาธิปไตย ขบวนการประชาธิปไตยย่อมประกอบด้วย
บุคคลกลุ่มต่างๆที่มีความมุ่งหมายเพื่อความสำเร็จของระบอบประชาธิปไตย แต่เนื่องจากแนวโน้มแห่งวิวัฒนาการของประเทศไทยเป็นแนวโน้มทางประชาธิปไตย จึงทำให้กลุ่มชนที่เป็นปรปักษ์ต่อระบอบประชาธิปไตยจำเป็นต้องแอบแฝงโดยยกเอาประชาธิปไตยขึ้นบังหน้า จึงต้องสนับสนุนขบวนการประชาธิปไตยที่แท้จริงทั้งสิ้นและจะขัดขวาง ขบวนการประชาธิปไตยที่แอบแฝงอำพราง

- ทำลายการกดขี่ด้วยอำนาจและอิทธิพล การกดขี่ด้วยประการต่างๆโดยผู้มีอำนาจและผู้มีอิทธิพลเป็นลักษณะของระบอบเผด็จการ ตราบใดที่มีการกดขี่โดยผู้มีอำนาจและผู้มีอิทธิพล ตราบนั้นยังไม่มีระบอบประชาธิปไตย หรือไม่มีระบอบประชาธิปไตยอันแท้จริง
ฉะนั้น จึงต้องกำจัดการกดขี่ด้วยอำนาจและอิทธิพลทั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่นให้หมดไป สร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นในสังคม

- จัดระบบบริหารส่วนท้องถิ่น ส่วนภูมิภาคและส่วนกลาง ให้สอดคล้องกันยิ่งขึ้น การกระจายอำนาจเป็นลักษณะหนึ่งของระบอบประชาธิปไตย วิธีการ คือ ทำให้องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นมีอิสระมากขึ้น และให้องค์การบริหารส่วนภูมิภาคมีฐานะเป็นตัวแทนขององค์การบริหารส่วนกลางอย่างแท้จริง ไม่ใช่องค์การบริหารส่วนกลางทำงานแข่งขันซ้ำซ้อนกับองค์การบริหารส่วนภูมิภาคหรือส่วนท้องถิ่น แต่ให้องค์การบริหารส่วนต่างๆมีการประสานงานกันเป็นอย่างดี

- สร้างสันติภาพภายในประเทศให้สมบูรณ์และกระชับความสามัคคีแห่งชาติ
โดยเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองต่างๆเปลี่ยนแนวทางการต่อสู้จากแนวทางรุนแรงมาเป็นการต่อสู้ในแนวทางสันติตามนโยบายประชาธิปไตยที่ถูกต้อง ซึ่งเป็นนโยบายรากฐานของความสามัคคีแห่งชาติ และเป็นเส้นด้ายทองคำร้อยพวงมาลัยแห่งความสามัคคีระหว่างประชาชนทุกหมู่เหล่าอีกด้วย ป้องกันการเคลื่อนไหวม็อบและการรัฐประหาร ไม่ให้เคลื่อนไหวไปสู่การจลาจลขนานใหญ่หรือมิคสัญญีกลียุคและนำไปสู่สงครามกลางเมืองขั้นตอนใหม่ ด้วยมาตรการยกระดับจาก ม็อบขึ้นสู่แม๊ส จากบุคคลขึ้นสู่ระบอบ จากรัฐธรรมนูญขึ้นสู่ประชาธิปไตย

นโยบายด้านเศรษฐกิจ
- ต้องพัฒนาระบบเศรษฐกิจแห่งชาติให้สำเร็จ ระบบเศรษฐกิจเป็นฐานรากของระบอบการเมือง และระบอบการเมืองมีบทบาทผลักดันพัฒนาการของระบบเศรษฐกิจ การแก้ปัญหาเศรษฐกิจจึงจะดำเนินการโดยเอกเทศมิได้ แต่ต้องนำเอาการแก้ปัญหาเศรษฐกิจไปสัมพันธ์กับการแก้ปัญหาการเมืองโดยลงมือแก้ปัญหาการเมืองทันทีและลงมือแก้ปัญหาเศรษฐกิจไปพร้อมกัน การที่ระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยตกอยู่ในภาวะล้าหลังมาเป็นเวลานาน ยังผลให้ประเทศไทยเป็นประเทศยากจน ฐานะการครองชีพของประชาชนต่ำไม่สามารถพัฒนาขึ้นเป็นประเทศร่ำรวยและยกฐานะการครองชีพของประชาชนให้สูงขึ้นได้ทั้งๆที่อุดมด้วยทรัพยากรธรรมชาตินั้น ก็เพราะได้ดำเนินการแก้ปัญหาเศรษฐกิจมาโดยไม่ได้แก้ปัญหาการเมือง คือไม่ดำเนินการเพื่อบรรลุถึงซึ่งระบอบประชาธิปไตยอันแท้จริง
ฉะนั้น บนรากฐานของการแก้ปัญหาการเมืองเพื่อความสำเร็จของระบอบประชาธิปไตยดังกล่าวมาแล้ว นโยบายแห่งชาติจะพัฒนาระบบเศรษฐกิจแห่งชาติให้สำเร็จด้วย มาตรการต่อไปนี้

- ปรับปรุงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ความมุ่งหมายของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติคือ เพื่อสร้างสังคมประชาธิปไตย สังคมประชาธิปไตยคือสังคมที่มีการปกครองระบอบประชาธิปไตยและมีระบบเศรษฐกิจเสรีนิยม ระบบเศรษฐกิจเสรีนิยมที่พัฒนาภายใต้ระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริงจะนำมาซึ่งความไพบูลย์และความยุติธรรม แต่การที่จะบรรลุความมุ่งหมายดังกล่าวนี้ได้จะต้องใช้ระบอบประชาธิปไตยทำการเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจเสรีนิยมที่ล้าหลังและผูกขาดดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ให้เป็นระบบเสรีนิยมที่ก้าวหน้าและเสรี และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติมีบทบาทสำคัญอันดับแรกต่อการเปลี่ยนแปลงนี้
ฉะนั้น จึงต้องทบทวนโครงสร้างของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และแก้ไขปรับปรุงให้สอดคล้องกับความมุ่งหมายเพื่อบรรลุถึงสังคมประชาธิปไตยที่พัฒนา ซึ่งเป็นแผนที่มีเนื้อหาในการทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศอุตสาหกรรมที่เหมาะสมกับสภาวการณ์ของประเทศไทย โดยเฉพาะ คือ เน้นหลักการพัฒนาเกษตรกรรม และพัฒนาอุตสาหกรรม พาณิชยกรรม และการขนส่งให้สอดคล้องกัน

- การกระจายทุน ต้องยกเลิกการรวมศูนย์ทุน เพราะการรวมศูนย์ทุนทำให้วิสาหกิจขนาดใหญ่โดยเฉพาะคือ วิสาหกิจเส้นเลือดใหญ่ ได้แก่ ธนาคารพาณิชย์ อุตสาหกรรมหนัก การค้าต่างประเทศ การส่งสินค้าหลักภายในประเทศ การขนส่งระหว่างประเทศการขนส่งหลัก ภายในประเทศ มีอำนาจครอบงำและบงการต่อวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก เป็นอุปสรรคต่อการเติบโตของระบบเศรษฐกิจแห่งชาติ
ฉะนั้น จึงต้องลดอำนาจของการครอบงำและบงการดังกล่าวลง โดยทำให้ทุนกระจายไปสู่ประชาชนด้วยมาตรการเหล่านี้ คือ

- การปฏิรูปที่ดิน เป็นวิธีการกระจายทุนทางที่ดินไปสู่ชาวไร่ชาวนาด้วยมาตรการเวนคืนที่ดินจากเจ้าของที่ดินเดิม ในขณะเดียวกันรายได้ของเจ้าของที่ดินจากการเวนคืนที่ดินก็จะกระจายไปสู่รัฐวิสาหกิจอุตสาหกรรม พาณิชยกรรม และอื่น ๆ โดยเฉพาะในรูปของพันธบัตร หุ้นส่วนในรัฐวิสาหกิจเหล่านั้น การกระจายทุนทางที่ดินด้วยการปฏิรูปที่ดินเป็นปัจจัยอันจำเป็นอันดับแรกของความเติบโตของระบบเศรษฐกิจแห่งชาติ ทั้งเกษตรกรรมอุตสาหกรรม พาณิชยกรรม และการขนส่ง โดยทำให้เกษตรกรรมสามารถสนองตอบด้านวัตถุดิบแก่อุตสาหกรรม อุตสาหกรรมสนองตอบด้านเครื่องมือวัตถุอุปกรณ์และการป้องกันภัยธรรมชาติให้แก่เกษตรกรรม และเกษตรกรรมกับอุตสาหกรรมก็สนองตลาดให้แก่กันและกัน
ฉะนั้น การปฏิรูปที่ดินจึงมิใช่เพียงเพื่อการเกษตรกรรมหรือเพียงเพื่อช่วยเหลือชาวนาชาวไร่ให้มีที่ทำกิน แต่ข้อสำคัญเพื่อความเติบโตของระบบเศรษฐกิจแห่งชาติทั้งระบบ

- เปลี่ยนบริษัทครอบครัวของวิสาหกิจเอกชนต่างๆเป็นบริษัทมหาชน ให้สหกรณ์เป็นเครื่องมือของการกระจายทุนและให้รัฐเข้ามามีส่วนในการบริหารวิสาหกิจเอกชน แต่เดิมรัฐเพียงแต่ควบคุมวิสาหกิจเอกชน เช่น ธนาคารชาติควบคุมธนาคารพาณิชย์ด้วยการจดทะเบียนปริมาณทุน ปริมาณเงินฝาก ปริมาณเงินวางธนาคารชาติ ฯลฯ ซึ่งไม่เพียงพอแก่การลดการรวมศูนย์ทุน แต่รัฐจะต้องทำการควบคุมโดยตรง เช่น ผู้แทนของรัฐมีส่วนในการบริหารเป็นต้นอีกด้วย
- สร้างความสมดุลระหว่างภาคสาธารณะกับภาคเอกชน ระบบเศรษฐกิจเสรีนิยมของประเทศไทยมิใช่มีแต่เศรษฐกิจเอกชนอย่างเดียว แต่มีเศรษฐกิจสาธารณะโดยเฉพาะคือเศรษฐกิจของรัฐอีกด้วย โดยภาคสาธารณะตั้งอยู่บนรากฐานของภาคเอกชน แต่ภาคสาธารณะแม้ว่าจะเป็นฝ่ายข้างน้อยก็มีความสำคัญในฐานะเป็นหลักนำต่อภาคเอกชนและส่งเสริมช่วยเหลือภาคเอกชน ภาคสาธารณะกับภาคเอกชนจะต้องมีความสมดุลกันจึงจะสามารถเป็นปัจจัยให้แก่การขยายตัวของกันและกัน
วิธีการสร้างความสมดุล คือการปรับปรุงการบริหารของภาคสาธารณะโดยเฉพาะของรัฐวิสาหกิจเสียใหม่ทั้งหมด ทั้งฝ่ายสาธารณูปโภคและฝ่ายบริโภค ทั้งที่ผูกขาดและไม่ผูกขาด เพื่อให้รัฐวิสาหกิจเหล่านั้นมีประสิทธิภาพเท่าเทียมหรือเหนือกว่าวิสาหกิจเอกชน เพื่อจะได้ทำหน้าที่เป็นหลักนำและส่งเสริมช่วยเหลือวิสาหกิจเอกชน และเพื่อคานวิสาหกิจเอกชนในการรักษาเสถียรภาพของตลาด การปรับปรุงการบริหารของภาคสาธารณะนั้น ให้องค์การแรงงานของวิสาหกิจนั้นๆเข้าร่วมดำเนินการด้วย

- สร้างความสมดุลระหว่างเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม สภาพเศรษฐกิจของประเทศไทยในปัจจุบันเกษตรกรรมเป็นฝ่ายครอบงำ แต่ทิศทางของพัฒนาการจะต้องมุ่งไปสู่ความเป็นอุตสาหกรรม ภายใต้สภาวการณ์ดังกล่าว การพัฒนาจะต้องเน้นหนักในการพัฒนาเกษตรกรรมขณะเดียวกันก็ต้องพัฒนาอุตสาหกรรมให้ได้สัดส่วนกัน และการพัฒนาอุตสาหกรรมจะต้องเน้นหนักการพัฒนาอุตสาหกรรมเบา(อุตสาหกรรมแปร วัตถุดิบเกษตรกรรมภายในประเทศเป็นสินค้าสำเร็จรูปหรือกึ่งสำเร็จรูป) แต่พัฒนาอุตสาหกรรมเบาจะต้องมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมหนัก(อุตสาหกรรม พลังงาน อุตสาหกรรมเหล็ก อุตสาหกรรมเครื่องจักร อุตสาหกรรมเคมี) ซึ่งเป็นรากฐานอันสำคัญที่สุดของการทำเกษตรกรรมให้ทันสมัย

- สร้างความสมดุลระหว่างเมืองกับชนบท ที่แล้วมาการขยายตัวของเมืองและชนบทเป็นไปอย่างสม่ำเสมอ แต่ปัจจุบันความเจริญเข้ามากระจุกรวมอยู่ในเมืองหลวงและนครใหญ่ ชนบทยังล้าหลังห่างไกล
ฉะนั้น จึงต้องเร่งรัดสร้างความเจริญให้แก่ชนบทในทุกทาง และทำชนบทให้เป็นที่อยู่ดีกินดี ขณะเดียวกันก็ระบายความแออัดยัดเยียดออกจากเมืองหลวงและนครใหญ่ วิธีการคือ จะต้องแบ่งสันปันส่วนภาษีอากรระหว่างส่วนกลางส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่นอย่างเหมาะสมและทำให้ส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่นไม่ต้องอาศัยงบประมาณส่วนกลาง กับขยายอุตสาหกรรมไปสู่ชนบทให้สอดคล้องกับเกษตรกรรม ที่ไหนมีเกษตรกรรมอย่างไรก็ขยายอุตสาหกรรมแปรวัตถุดิบอย่างนั้น สร้างความสมดุลระหว่างเกษตรกรรมกับอุตสาหกรรมขึ้นในท้องถิ่น และยกระดับของชนบทจนถึงขนาดที่คนไม่ไหลเข้าสู่เมืองแต่ชนบทกลับเป็นที่ดึงดูดคนในเมืองให้ระบายออกไป
- สร้างความสมดุลระหว่างการขยายตัวทางเศรษฐกิจกับการขยายตัวของประชากร ปัญหาร้ายแรงในปัจจุบันก็คือ การขยายตัวทางเศรษฐกิจไม่ทันกับการขยายตัวของประชากร จึงจำเป็นอย่างรีบด่วนที่จะต้องเร่งรัดการขยายตัวทางเศรษฐกิจเพื่อสร้างงานให้เพียงพอกับคน ขณะเดียวกันก็จะต้องลดการขยายตัวของประชากรอย่างน้อยชั่วระยะหนึ่ง

- การเร่งรัดการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ก็คือเพิ่มการผลิตทางเกษตรกรรมบนรากฐานของการปฏิรูปที่ดิน และการทำเกษตรกรรมให้ทันสมัย ทำการเพิ่มผลผลิตต่อไร่โดยเฉพาะคือพืชเศรษฐกิจด้วยการใช้วิชาการเกษตรกรรมแบบใหม่ให้ทั่วถึง ปรับปรุงระบบชลประทาน จัดหาและจำหน่ายปุ๋ยในราคาเยา ส่งเสริมการปลูกพืชหมุนเวียน ให้การศึกษาด้านเกษตรกรรมแก่ชาวนาชาวไร่อย่างเต็มที่ ขยายกิจการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ให้กว้างขวางทั่วประเทศ เพิ่มบริการชาวนาชาวไร่อย่างมีประสิทธิภาพ จัดประเภทการผลิตทางเกษตรกรรมให้เหมาะสมกับท้องที่และแนะนำเกษตรกรให้ปลูกพืชให้เหมาะสมกับความต้องการของตลาด ประกันราคาสินค้าเกษตรกรรมโดยขยายและรักษาตลาดต่างประเทศอย่างมั่นคงและใช้ค่าพรีเมี่ยมทั้งหมดเป็นกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร ใช้วิธีการสหกรณ์เข้าช่วยเหลือการขยายเกษตรกรรมอย่างเต็มที่และสนับสนุนการรวมกลุ่มเกษตรกรเป็นสถาบันเกษตร

- เพิ่มการผลิตทางอุตสาหกรรม เน้นหนักอุตสาหกรรมที่แปรวัตถุดิบเกษตรกรรมภายในประเทศให้เป็นสินค้าสำเร็จรูปหรือกึ่งสำเร็จรูป พร้อมทั้งขยายการผลิตของอุตสาหกรรมครอบครัว ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มพูนสินค้าบริโภคให้มากที่สุด และการพัฒนาอุตสาหกรรมดังกล่าวจะต้องมีเป้าหมายเพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมขั้นมูลฐานป้องกันการโจมตีจากต่างประเทศ โดยตั้งกำแพงภาษีหรือห้ามสั่งสินค้าเข้าตามความเหมาะสม กระจายอุตสาหกรรมไปยังแหล่งวัตถุดิบ ขยายการฝึกอบรมแรงงาน ส่งเสริมสมาคมนายจ้างและสหภาพแรงงานและส่งเสริมหลักการผลประโยชน์ซึ่งกันและกันระหว่างทุนกับแรงงานส่งเสริมอุตสาหกรรมท่องเที่ยว

- ขยายพาณิชยกรรม ขยายตลาดต่างประเทศทั้งสินค้าเกษตรกรรมและสินค้าอุตสาหกรรม พยายามขยายตลาดเข้าไปในตลาดสังคมนิยมให้ให้มากเท่าที่สามารถทำได้ และรัฐเข้าดำเนินการค้าต่างประเทศเองตามความจำเป็น แก้ไขความเสียเปรียบในวิธีดำเนินการการค้าและธุรกิจของต่างประเทศ แก้ไขการเสียเปรียบดุลการค้าโดยลดปริมาณสินค้าปัจจัยบริโภคโดยเฉพาะคือของฟุ่มเฟือย และเพิ่มปริมาณสินค้าปัจจัยการผลิตโดยเฉพาะคือเครื่องจักร พยายามตัดคนกลางในการส่งวัตถุดิบไปต่างประเทศพร้อมทั้งกวดขันการควบคุมมาตรฐานสินค้า เพิ่มปริมาณส่งออกวัตถุแปรรูปการค้าบางอย่างใช้วิธีแลกเปลี่ยนสินค้าโดยตรง ส่วนการตลาดภายในประเทศจะต้องทำให้มีเสถียรภาพโดยให้องค์การค้าของรัฐทำ หน้าที่ตรึงราคาอย่างมีประสิทธิภาพ และใช้สหกรณ์กำจัดคนกลาง

- ขยายการขนส่ง โดยการเพิ่มปัจจัยการขนส่งอย่างรอบด้าน ควบคุมค่าขนส่งให้พอเหมาะพอดี มิให้มีผลกระทบกระเทือนต่อการตลาดและการผลิต

- ขยายทุน ระดมและกระจายทุนทั้งทางเกษตรกรรม อุตสาหกรรม พาณิชยกรรม และการขนส่ง โดยเน้นหนักในการขยายทุนทางเกษตรกรรม แหล่งของทุนเอามาทั้งจากการผลิต ภาษีอากร การประหยัด และทุนจากต่างประเทศที่ไม่มีเงื่อนไขทางการเมือง

- ขยายเทคโนโลยี สร้างนักวิชาการไทยขึ้นแทนนักวิชาการจากต่างประเทศ และเร่งรัดขยายนักวิชาการไทยให้เพียงพอแก่ความต้องการ

- ควบคุมการเฉลี่ยรายได้แห่งชาติให้เป็นธรรม ตามสภาพที่เป็นอยู่ รายได้แห่งชาติ90% เฉลี่ยระหว่างคน 10% และรายได้แห่งชาติ 10% เฉลี่ยระหว่างคน 90% ซึ่งเป็นการเฉลี่ยที่ไม่เป็นธรรม เป็นต้นเหตุให้ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนกว้างมาก รัฐจึงต้องควบคุมการเฉลี่ยรายได้แห่งชาติให้เป็นธรรมเพื่อลดช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนให้แคบลง
การควบคุมเฉลี่ยรายได้แห่งชาตินั้น มิ ใช่กระทำด้วยกฎหมายหรืออำนาจบังคับ แต่กระทำโดยการส่งเสริมการพัฒนาระบบเศรษฐกิจให้เหมาะสมกับสภาพของประเทศไทยตามนโยบายและแผนอันถูกต้อง เพื่อให้เศรษฐกิจแห่งชาติได้ขยายตัวไปอย่างราบรื่นและรวดเร็ว เช่น การจำกัดการผูกขาดการกระจายทุน การขยายการผลิต การคัดคนกลาง การเฉลี่ยงบประมาณระหว่างส่วนกลางกับส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่น เป็นต้น
การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างได้ผลตามนโยบายและแผนอันถูกต้อง ทำให้รายได้เฉลี่ยของประชากรทั่วไปสูงขึ้น และการใช้ระบบผูกขาดควบคุมการครองชีพของประชาชนก็จะเบาบางหรือหมดสิ้นไป ทำให้เกิดการเฉลี่ยรายได้แห่งชาติเป็นธรรมโดยอัตโนมัติ แม้จะใช้กฎหมายบ้างก็เป็นส่วนประกอบเท่านั้น แต่ถ้าไม่พัฒนาเศรษฐกิจให้ได้ผล การใช้กฎหมายในเรื่องนี้ก็ไม่มีประโยชน์ อย่างกฎหมายกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำ ถ้าการพัฒนาเศรษฐกิจล้มเหลวกฎหมายนั้นเป็นเพียงเศษกระดาษชิ้นหนึ่ง
รวมความว่า การควบคุมการเฉลี่ยรายได้แห่งชาติก็คือการพัฒนาระบบเศรษฐกิจเสรีนิยมที่เหมาะสมกับประเทศไทยให้เป็นไปตามนโยบายและแผนอันถูกต้องนั่นเอง

- ร่วมมือทางเศรษฐกิจกับนานาประเทศโดยไม่เลือกระบบสังคมภายใต้หลักการของความเป็นอิสระและพึ่งตนเอง การเมืองตั้งอยู่บนรากฐานของเศรษฐกิจ ฉะนั้น การร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศที่จะไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองเลยจึงเป็นไปไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นการร่วมมือระหว่างประเทศในระบบสังคมเดียวกัน หรือคนละระบบสังคมก็ตาม ถ้ายอมรับว่าเศรษฐกิจและการค้าขึ้นต่อการเมืองและดำเนินไปตามหลักการนี้ โดยทำให้ความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้ากับประเทศสังคมนิยมและเสรีนิยมด้วยกันขึ้นต่อนโยบายต่างประเทศที่ถูกต้องแล้ว การร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้ากับนานาประเทศโดยไม่เลือกระบบสังคมก็จะเป็นผลดีแก่การพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติอย่างใหญ่หลวง และนี่คือการร่วมมือภายใต้หลักการของความเป็นอิสระและพึ่งตนเองตามลักษณะพิเศษ ของนโยบายต่างประเทศที่ถูกต้องของไทยคือ นโยบายอิสระ

- ปัญหาการคลังและการเงิน การคลังและการเงินเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของเศรษฐกิจ จึงต้องแก้ปัญหาการคลังและการเงินโดยสัมพันธ์กับการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ การขยายเศรษฐกิจจะต้องดูจากการผลิตและการภาษีว่าจะขยายได้อย่างไรไม่ให้เกินตัวจนต้องอาศัยเงินกู้จนเกินควร การเก็บภาษีควรเอาจากการผลิตเป็นอันดับแรก ภาษีสินค้าขาเข้าขาออกเป็นอันดับต่อมา ภาษีเอกชนเป็นอันดับสุดท้าย
แต่ภาษีสินค้าเข้าสินค้าออกจะต้องไม่ทำลายการส่งเสริมการผลิตและการค้าต่างประเทศ ปัญหาการเงินที่สำคัญนั้น อยู่ที่จะต้องรักษาเสถียรภาพของเงินบาท วิธีการคือ เปลี่ยนมาตรฐานเงินตราต่างประเทศเป็นหลักมาตรฐานทองคำเป็นหลัก เพราะในปัจจุบันเงินตราต่างประเทศ เช่น สกุลดอลล่าร์ มักจะขาดเสถียรภาพ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะยกเลิกมาตรฐานเงินตราต่างประเทศ เพียงแต่มาตรฐานดอลล่าร์ มาตรฐานปอนด์ ฯลฯ เป็นส่วนประกอบ วิธีการเช่นนี้จะเป็นส่วนช่วยอย่างสำคัญในการรักษาเสถียรภาพของเงินบาท

นโยบายด้านสังคม
- แก้ปัญหาสังคมบนฐานรากของการแก้ปัญหาเศรษฐกิจประกอบด้วยการศึกษาอบรม ปัญหาสังคม เช่น ปัญหาการว่างงาน ปัญหาอาชญากรรม ปัญหาคอร์รัปชั่น และความเน่าเฟะต่างๆในสังคม ส่วนสำคัญเกิดจากความยากจนและการไม่มีงานทำอันเนื่องมาจากการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของชาติไม่ตก
ฉะนั้น ถ้าความยากจนและการไม่มีงานทำยังครอบงำสังคมอยู่ การพร่ำสอนไม่ให้ทำชั่วและขยันขันแข็งประกอบสัมมาอาชีพจึงไม่ใคร่จะได้ผล เพราะถ้าไม่ประกอบอาชญากรรม ทำคอร์รัปชั่น หรือประกอบมิจฉาชีพ ก็ไม่มีอะไรจะกิน และถึงแม้จะขยันขันแข็งก็ไม่มีงานทำ แต่การศึกษาอบรมจะได้ผลเต็มที่ถ้าความยากจนบรรเทาลง เพราะคนมีงานทำและอาชญากรรมแก้ไขได้ คอร์รัปชั่นปราบได้ การว่างงานขจัดได้ ด้วยการศึกษาอบรมและมาตรการทางกฎหมาย

- แผนการศึกษาแห่งชาติขึ้นต่อแผนเศรษฐกิจแห่งชาติ สมัยก่อนการบำรุงการศึกษาไม่มีขอบเขตจำกัด เพราะสมัยนั้นความเจริญของบ้านเมืองขึ้นอยู่กับการศึกษาของประชาชน ยิ่งขยายการศึกษามากเพียงใดบ้านเมืองก็จะยิ่งเจริญมากเพียงนั้น
แต่ในปัจจุบัน การขยายตัวทางการศึกษาถูกจำกัดด้วยการขยายตัวทางเศรษฐกิจ การขยายการศึกษาอย่างไม่มีขอบเขตจำกัดแทนที่จะเป็นผลดีกลับจะเป็นผลร้าย โดยเฉพาะจะเป็นเหตุหนึ่งของการว่างงาน
การจำกัดการขยายตัวของการศึกษานั้น ไม่หมายถึงการลดงบประมาณการศึกษา งบประมาณการศึกษาจะต้องเพิ่มขึ้นโดยลำดับอย่างแน่นอน การจำกัดการขยายตัวของการศึกษา หมายถึง แผนการศึกษาจะต้องขึ้นต่อแผนเศรษฐกิจ ซึ่งจะกำหนดให้การขยายการศึกษาเป็นไปตามความต้องการของการพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ
ในสภาวการณ์ใด ระดับการศึกษาใด และสาขาวิชาใด เพียงพอแก่ความต้องการก็ลดลง ในสภาวการณ์ใด ระดับการศึกษาใด และสาขาวิชาใด เป็นความต้องการก็เพิ่มขึ้น
ส่วนด้านสามัญศึกษาจะต้องขยายให้มากที่สุดไม่มีขอบเขตจำกัดตามระดับความสำเร็จของการพัฒนาเศรษฐกิจเป็นลำดับไป ทั้งนี้จะเป็นไปโดยขยายการศึกษาชั้นประถมและมัธยมของรัฐให้มากที่สุด และควบคุมการศึกษาของเอกชนอย่างเคร่งครัด การศึกษาของชาติจะประสบความสำเร็จสมความมุ่งหมายขึ้นอยู่กับความถูกต้องของแผนเศรษฐกิจแห่งชาติและประสานแผนการศึกษาแห่งชาติเข้ากับแผนเศรษฐกิจแห่งชาติ

- ดำเนินการประกันสังคมทั่วทุกด้าน ความไพบูลย์ทางเศรษฐกิจอันเกิดจากผลสำเร็จของการสร้างระบบเศรษฐกิจของระบอบประชาธิปไตยตามนโยบายที่ถูกต้อง ย่อมจะเป็นปัจจัยให้มีงานให้ประชาชนทำเพิ่มมากขึ้น และเป็นปัจจัยให้รัฐสามารถขยายการศึกษา การสาธารณสุข และสาธารณูปการอย่างอื่นให้กว้างขวางออกไปตามส่วน
ประชาชนมีโอกาสทำงาน มีโอกาสศึกษา มีโอกาสรักษาพยาบาล และมีโอกาสอื่นๆเพิ่มขึ้นโดยลำดับ เมื่อเกิดความไพบูลย์ทางเศรษฐกิจ การว่างงานก็ค่อยๆหมดไป การศึกษาโดยไม่ต้องเสียค่าเล่าเรียนรักษาพยาบาลโดยไม่ต้องเสียค่ารักษา ตลอดจนบำเหน็จบำนาญของคนชราและทุพลภาพก็จะมีได้โดยลำดับ
ฉะนั้น ความไพบูลย์ทางเศรษฐกิจจึงเป็นการประกันสังคมอยู่ในตัว และมาตรการประกันสังคมที่มีประสิทธิภาพที่สุดก็คือ การดำเนินการพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติตามนโยบายและแผนอันถูกต้องให้บรรลุผลสำเร็จนั่นเอง กฎหมายประกันสังคมจะต้องออกตามผลสำเร็จของการพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ แม้ว่าจะออกกฎหมายประกันสังคมอย่างสวยงามเพียงใด แต่ถ้าการพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติล้มเหลว กฎหมายนั้นก็ใช้ปฏิบัติไม่ได้
นโยบายด้านการทหารและด้านการป้องกันประเทศ
- หน้าที่อันศักดิ์สิทธิ์ของกองทัพแห่งชาติ กองทัพแห่งชาติไม่ใช่กองทัพของบุคคลหรือคณะบุคคล แต่เป็นกองทัพของชาติและของประชาชน กองทัพแห่งชาติไม่สนับสนุนการเมืองของบุคคลหรือคณะบุคคล แต่การสนับสนุนการเมืองของชาติ
แต่หมายความว่า ทหารไม่สนับสนุนการเมืองของบุคคลหรือการเมืองที่ ไม่ถูกต้องเท่านั้น เอกราชของชาติและอธิปไตยของปวงชนคือสาระสำคัญของการเมืองของชาติ ซึ่งจะต้องอาศัยความสนับสนุนของกองทัพแห่งชาติจึงจะดำรงอยู่ได้
ฉะนั้น หน้าที่อันศักดิ์สิทธิ์ของกองทัพแห่งชาติจึงอยู่ที่การรักษาเอกราชของชาติและรักษาอธิปไตยของปวงชน

- ปรับปรุงขีดความสามารถของกองทัพแห่งชาติ การที่กองทัพแห่งชาติจะปฏิบัติหน้าที่อันศักดิ์สิทธิ์สองประการอย่างมีประสิทธิภาพได้ จะต้องปรับปรุงขีดความสามารถของกองทัพให้สูงขึ้น เนื่องจากสงครามในปัจจุบันซึ่งกองทัพแห่งชาติเผชิญอยู่มีลักษณะแตกต่างกันโดยสิ้นเชิงกับสงครามในอดีต ทำให้ยุทธศาสตร์ของกองทัพแห่งชาติที่มีอยู่เดิมไม่เพียงพอ สำหรับทำสงครามในลักษณะใหม่ให้ชนะ
ฉะนั้น สาระสำคัญของการปรับปรุงขีดความสามารถของกองทัพแห่งชาติจึงอยู่ที่การปรับปรุงยุทธศาสตร์ เมื่อปรับปรุงยุทธศาสตร์ให้สมบูรณ์ทั้งยุทธศาสตร์ทหารและยุทธศาสตร์การเมืองแล้ว การปรับปรุงความสามารถอื่นๆ เช่น ด้านอาวุธยุทโธปกรณ์ก็จะสำเร็จตามไปด้วย

- ปรับปรุงสวัสดิการทหาร การที่กองทัพจะสามารถปฏิบัติหน้าที่ด้วยขีดความสามารถในระดับสูงได้นั้น ทหารจะต้องได้รับสวัสดิการในทุกด้านอย่างเพียงพอ
ฉะนั้น จึงต้องปรับปรุงสวัสดิการทหารในทุกด้านให้ดีที่สุดเท่าที่สามารถจะทำ ได้

นโยบายต่างประเทศ
- รักษาลักษณะพิเศษของนโยบายต่างประเทศของชาติไทย นโยบายต่างประเทศกำหนดขึ้นจากรากฐานของวิวัฒนาการทางประวัติศาสตร์และทางสังคมของประเทศไทย ภายใต้หลักนำของลักษณะพิเศษประจำชาติไทย 3 ประการ คือ
(1) รักความเป็นไท
(2) อหิงสา
(3 )รักจักประสานประโยชน์

ชาติไทยเป็นชาติเก่าแก่ซึ่งมีลักษณะประจำชาติสูงส่ง จึงมีนโยบายต่างประเทศอันแน่นอนเป็นมรดกล้ำค่าตกทอดมาแต่บรรพกาล เรียกว่า “นโยบายอิสระ” วิธีดำเนินดำเนินนโยบายต่างประเทศที่ถูกต้องก็คือ นำเอานโยบายอิสระมาใช้กับปัญหาความสัมพันธ์กับต่างประเทศตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป
ฉะนั้น สำหรับนโยบายต่างประเทศของไทยแล้ว นโยบายหลักไม่เปลี่ยนแปลงแต่นโยบายตามสถานการณ์เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอและจะต้องใช้นโยบายสองอย่างนี้ควบคู่กันตลอดไป โดยนโยบายตามสถานการณ์ตั้งอยู่บนรากฐานของนโยบายหลัก ไม่ว่าจะดำเนินนโยบาย ต่อประเทศใด หรือต่อต่อปัญหาใด ในสถานการณ์ใด เช่น ต่อสหรัฐอเมริกา ต่อสาธารณรัฐประชาชนจีน ต่อรัสเซีย ต่อสหประชาชาติ ต่ออาเชี่ยนต่ออินโดจีน ฯลฯ จะต้องยึดถือนโยบายอิสระเป็นหลักอยู่ตลอดเวลา
วิธีดำเนินนโยบายต่างประเทศเช่นนี้ ประเทศไทยเคยใช้มาแต่อดีตยังผลให้รอดพ้นภัยพิบัติและดำรงเอกราชอธิปไตยไว้ได้ ในปัจจุบันสภาวการณ์ทางภูมิศาสตร์และทางการเมือง กำหนดให้ประเทศไทยเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญที่สุดในความขัดแย้งของโลก ทั้งความขัดแย้งภายในระบบสังคมนิยม และในท่ามกลางความขัดแย้งของโลกปัจจุบัน ไม่มีประเทศใดไม่ว่ามหาอำนาจหรือมิใช่มหาอำนาจจะเป็นหลักในการแก้ความขัดแย้งได้ ทำให้มีอันตรายแห่งสงครามทั้งในขอบเขตภูมิภาคและขอบเขตโลก
แต่ประเทศไทย ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญที่สุด และมีนโยบายต่างประเทศที่อยู่บนรากฐานของลักษณะประจำชาติไทยอันสูงส่ง เป็นประเทศเดียวที่อยู่ในฐานะที่จะแก้ความขัดแย้งของโลก ป้องกันสงคราม และรักษาสันติภาพ ซึ่งเป็นหลักประกันของการรักษาผลประโยชน์ของประเทศไทยอย่างถึงที่สุด
ฉะนั้น ประเทศไทยจึงต้องวางตัวเป็นหลักตามความหมายที่แท้จริงของ “นโยบายอิสระ” ในท่ามกลางความขัดแย้งทั้งในภูมิภาคและในโลก

- ส่งเสริมสัมพันธไมตรีอันดีและความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจการค้ากับทุกประเทศ โดยไม่คำนึงถึงความแตกต่างในระบอบการปกครอง ระบบเศรษฐกิจและสังคม

- ส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ โดยมีหลักประกันที่เป็นธรรมและความร่วมมือกับประเทศกำลังพัฒนา เพื่อเสริมสร้างประโยชน์ในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมระหว่างประเทศ

- ยับยั้งการสร้างสถานการณ์เพื่อเปลี่ยนสงครามในประเทศเป็นสงครามประชาชาติ และกำจัดบรรยากาศสงครามประชาชาติ
- ดำเนินนโยบายเป็นกลางบนรากฐานของ “นโยบายอิสระ” ของชาติไทย ในปัญหาความขัดแย้งภายในระบบสังคมนิยมเรียกร้องให้มีการประชุมนานาชาติเพื่อ รับรองสถานภาพเป็นกลางของประเทศไทยเพื่อเป็นเงื่อนไขให้ประเทศไทยในฐานะเป็น จุดยุทธศาสตร์อันสำคัญที่สุดในความขัดแย้งของโลกปัจจุบันได้แสดงบทบาทอย่าง เต็มภาคภูมิในการป้องกันสงคราม และรักษาสันติภาพถาวรของโลก

นโยบายด้านวัฒนธรรม
- กำจัดวัฒนธรรมต่ำทรามที่แพร่หลายมาจากต่างประเทศ และรับวัฒนธรรมต่างประเทศโดยกลั่นกรอง วัฒนธรรม เป็นองค์ประกอบสำคัญอย่างหนึ่งของระบบสังคม และมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับองค์ประกอบสำคัญอีกสองประการ คือ เศรษฐกิจและการเมือง
ฉะนั้น การแก้ปัญหาวัฒนธรรมจึงต้องประสานกับการแก้ปัญหาเศรษฐกิจและการเมือง เศรษฐกิจซึ่งระบบผูกขาดของเอกชนครอบงำการครองชีพของประชาชน และการเมืองที่ไม่เป็นประชาธิปไตย นอกจากจะบั่นทอนวัฒนธรรมอันดีงามแล้วยังเป็นแหล่งรองรับวัฒนธรรมต่ำทรามที่แพร่มาจากต่างประเทศอีกด้วย การพัฒนาเศรษฐกิจระบบเสรีนิยมที่ก้าวหน้าและพัฒนาการเมืองให้เป็นระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง คือมาตรการพื้นฐานในการป้องกันและกำจัดวัฒนธรรมต่ำทรามต่างๆทั้งที่เกิดขึ้นภายในประเทศและที่แพร่มาจากต่างประเทศ ในขณะเดียวกัน ก็ใช้มาตรการทางกฎหมายและทางการศึกษาอบรมควบคู่กันไปด้วย
วัฒนธรรมต่ำทรามนั้นไม่เป็นสิ่งพึงประสงค์ไม่ว่าของประเทศใดๆ แต่วัฒนธรรมที่ดีของแต่ละชาติก็ไม่ใช่ว่าจะยอมรับซึ่งกันและกันได้เสมอไป วัฒนธรรมซึ่งชาติหนึ่งถือว่าดี อีกชาติหนึ่งอาจถือว่าไม่ดีก็ได้ เช่น ประเพณีความสัมพันธ์ระหว่างชายหญิงซึ่งชาติหนึ่งถือว่าดีงาม แต่อีกชาติหนึ่งถือว่าเป็นการอนาจารไปก็มี
ฉะนั้น การรับวัฒนธรรมจากต่างชาติจึงต้องคัดเลือกกลั่นกรองเอาแต่เฉพาะที่ไม่ขัดกับวัฒนธรรมไทย แม้ว่าวัฒนธรรมเหล่านั้นจะไม่ใช่วัฒนธรรมต่ำทรามก็ตาม

- เชิดชูวัฒนธรรมไทยอันสูงส่งมาแต่บรรพกาล ภูมิแห่งจิตของชนชาติไทยซึ่งแสดงออกทางขนบธรรมเนียมประเพณีศิลปะ วรรณคดี และความสัมพันธ์กับต่างชาติ เป็นต้นนั้น สูงส่งอย่างยิ่งซึ่งจะต้องรักษาและเชิดชูไว้ตลอดไป วัฒนธรรมอันสูงส่งก็คือวัฒนธรรมของประชาชน ถ้าไม่มีประชาธิปไตยวัฒนธรรมของประชาชนก็จะไม่สามารถพัฒนาอย่างเต็มที่ได้ การปกครองประเทศไทยมีลักษณะประชาธิปไตยมาแต่บรรพกาล นี่คือปัจจัยสำคัญให้วัฒนธรรมของประชาชนเชื้อชาติเหล่านั้นได้พัฒนาไปอย่างเต็มที่ แม้ว่าวัฒนธรรมของชนเชื้อชาติอื่นจะแตกต่างกับวัฒนธรรมของชนชาติเชื้อไทยก็ตามแต่ เมื่อเป็นวัฒนธรรมของประชาชนก็ย่อมเป็นวัฒนธรรมที่ดีงามทั้งสิ้น
ฉะนั้น การให้เสรีภาพทางวัฒนธรรมจึงมีผลดี โดยเฉพาะคือผลดีในการกระชับความสามัคคีแห่งชาติ

- พัฒนาวัฒนธรรมทางการเมืองบนรากฐานของการส่งเสริมทรรศนะที่ถือว่าการเมืองคือคุณธรรม ตามคตินิยมของคนไทยแต่โบราณ โดยลักษณะการเมืองคือคุณธรรม เพราะมีความมุ่งหมายเพื่อความสุขของประชาชน ความจริงข้อนี้คนไทยได้ถือเป็นคตินิยมมาแต่โบราณ เช่น ทศพิธราชธรรม เป็นต้น
ในบรรดาระบอบการปกครองทั้งหลายระบอบประชาธิปไตยเป็นระบอบที่มีคุณธรรมสูงสุด เพราะระบอบประชาธิปไตยเป็นระบอบที่รักษาผลประโยชน์ของประชาชน ดังนั้น ประชาธิปไตยก็คือ“ธรรมาธิปไตย” นั่นเอง
ดังนั้น จึงไม่มีการเมืองใดจะมีคุณธรรมสูงส่งเสมอด้วยประชาธิปไตย และดังนั้นถ้าจะเป็นประชาธิปไตยก็จำเป็นจะต้องขจัดทรรศนะที่เห็นการเมืองเป็นของสกปรกและกลับไปสู่ทรรศนะเดิม คือการเมืองเป็นคุณธรรมต่อไป และบนรากฐานของทรรศนะที่ถูกต้องนี้ ความอดทนต่อความเห็นที่ตรงกันข้ามของตน ความมีวินัย ความยอมรับเสียงข้างมาก ความยืนหยัดในหลักการที่ถูกต้อง แม้ว่าจะเป็นฝ่ายข้างน้อย ความใจกว้าง ความยอมแพ้ต่อเหตุผล ความเคารพในหลักวิชา ความอุทิศตนเพื่อชาติ เพื่อประชาชนและเพื่อคุณธรรม เป็นต้น ให้มีทรรศนะที่เห็นการเมืองเป็นคุณธรรมและให้สมบูรณ์ด้วยวัฒนธรรมทางการ เมืองอย่างมากที่สุด

- ส่งเสริมความบริสุทธิ์ผุดผ่องของพุทธศาสนา อันเป็นศาสนาประจำชาติไทย รวมทั้งศาสนาอื่นๆในประเทศไทย พระพุทธศาสนาเป็นองค์ประกอบอันสำคัญที่สุดของวัฒนธรรมไทย เพราะหลักธรรมของพระพุทธศาสนาสอดคล้องอย่างลึกซึ้งกับลักษณะพิเศษประจำชาติไทย โดยเฉพาะ คือ อหิงสา(ความไม่เบียดเบียน) เป็นลักษณะพิเศษอย่างหนึ่งของคนไทย และหลักธรรมอย่างหนึ่งของพระพุทธศาสนา คือ อหิงสา ปรโม ธัมโม(ความไม่เบียดเบียนเป็นธรรมอย่างยิ่ง)
ด้วยเหตุนี้ คนไทยซึ่งรับเอาพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ จึงเข้ากับศาสนาอื่นได้เป็นอย่างดี ในประวัติศาสตร์ของชาติไทยไม่เคยมีการเลือกปฏิบัติต่อศาสนาอื่น และไม่เคยมีเหตุการณ์ร้ายแรงอันเนื่องมาจากความแตกต่างทางศาสนา การที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะการนับถือพุทธศาสนาของคนไทยนั้นโดยพื้นฐานเป็นการนับถือหลักธรรมอันแท้จริง แม้ว่าจะประกอบด้วยพิธีการและลัทธินิยมอื่นๆมากมาย แต่โดยพื้นฐานก็มิได้ละทิ้งหลักธรรมอันแท้จริง หลักธรรมอันแท้จริงนี่เอง คือ ความบริสุทธิ์ผุดผ่องของศาสนา ซึ่งควรเน้นหนักในการส่งเสริมโดยร่วมมือกับบรรดานักปฏิวัติที่ถูกต้อง

เหล่านี้คือ นโยบายหลักแห่งชาติ ที่มีปณิธานอันแน่วแน่ที่จะปฏิบัตินโยบายนี้ให้เป็นผลสำเร็จ โดยถือเป็นภารกิจอันสำคัญที่สุดนำประเทศชาติและประชาชนให้ผ่านพ้นภัยพิบัติ ผลักดันความเจริญก้าวหน้าไปสู่สังคมประชาธิปไตยยังความไพบูลย์แก่ประเทศชาติและความผาสุกแก่ประชาชนและรักษาชาติไทยให้ดำรงอยู่ชั่วนิรันดร
นี่คือลักษณะของ.. “รัฐบาลเฉพาะกาลและนโยบายของรัฐบาลเฉพาะกาลที่ถูกต้องตามทฤษฎีของลัทธิประชาธิปไตยที่จะสร้างการปกครองแบบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์” ได้สำเร็จอย่างแท้จริง ตามแนวทาง ร.5 ร.6 ร.7 และนโยบาย66/23

จึงเรียนมาเพื่อโปรดยกระดับจาก... “การรัฐบาลรักษาการณ์ของระบอบเผด็จการรัฐสภา...ขึ้นเป็น...รัฐบาลเฉพาะกาลของระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์” ทั้งรัฐธรรมนูญ ทั้งสภา สนช. ทั้งรัฐบาล คสช. และทั้ง สภา สปช. และนโยบาย คสช. ตามหลักการและเหตุผลดังกล่าวข้างต้นนี้ สภาประชาชนปฏิวัติสันติแห่งชาติ ขบวนการประชาธิปไตยแห่งชาติ ยินดีสนับสนุนและส่งเสริม คสช. ให้ปฏิบัติภารกิจสร้างประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ เพื่อความเจริญของชาติและความผาสุกของประชาชนคนทั้งประเทศ บังเกิดความปรองดองแห่งชาติ ความมั่นคงของชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ประชาธิปไตย เศรษฐกิจพอเพียง ยังยืนสถิตสถาพรตลอดไปชั่วกาลนาน

ขอแสดงความนับถืออย่างสูง


(นายคงฤทธิ์ สีหานาถ)
รักษาการณ์ประธานสภาประชาชนปฏิวัติสันติแห่งชาติ


(นายสมาน ศรีงาม)
ที่ปรึกษาสภาชาวนาและสภาประชาชนปฏิวัติสันติแห่งชาติ
เลขาธิการทั่วไปขบวนการประชาธิปไตยแห่งชาติ
ประธานคณะธรรมยาตรากอบกู้รักษาผืนแผ่นดินไทยฯ

(นายวิชาญ ภูวิหาร)
กรรมการสภาประชาชนปฏิวัติสันติแห่งชาติ
คณะธรรมยาตรากอบกู้รักษาผืนแผ่นดินไทยฯ

(นางสาวแก้วแสงบุญ ธรรมให้ดี)
กรรมการสภาประชาชนปฏิวัติสันติแห่งชาติ

(นางสาวเสาวลักษณ์ กัลยา)
กรรมการสภาประชาชนปฏิวัติสันติแห่งชาติ


(นายสมพร พวงแสง)
เลขาธิการสภาชาวนาแห่งชาติ