วันจันทร์ที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

ฎีกาถวายคืนพระราชอำนาจเมื่อปี ๓ มีนาคม ๒๕๔๙ ตอนที่ ๒

ฎีกาถวายคืนพระราชอำนาจเมื่อปี ๓ มีนาคม ๒๕๔๙ ตอนที่ ๒


๒.นโยบายเศรษฐกิจต้องพัฒนาระบบเศรษฐกิจแห่งชาติให้สำเร็จ


ระบบเศรษฐกิจเป็นฐานรากของระบอบการเมืองและระบอบการเมืองมีบทบาท
ผลักดันพัฒนาการของระบบเศรษฐกิจการแก้ปัญหาเศรษฐกิจจึงจะดำเนินการโดยเอกเทศมิได้แต่ต้องนำเอาการแก้ปัญหาเศรษฐกิจไปสัมพันธ์กับการแก้ปัญหาการเมืองโดยลงมือแก้ปัญหาการเมืองทันที และลงมือแก้ปัญหาเศรษฐกิจไปพร้อมกันการที่ระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยตกอยู่ในภาวะล้าหลังมาเป็นเวลานานยังผลให้ประเทศไทยเป็นประเทศยากจนฐานะการครองชีพของประชาชนต่ำไม่สามารถพัฒนาขึ้นเป็นประเทศร่ำรวย และยกฐานะการครองชีพของประชาชนให้สูงขึ้นได้ทั้ง ๆที่อุดมด้วยทรัพยากรธรรมชาตินั้นก็เพราะได้ดำเนินการแก้ปัญหาเศรษฐกิจมาโดยไม่ได้แก้ปัญหาการเมืองคือไม่ดำเนินการเพื่อบรรลุถึงซึ่งระบอบประชาธิปไตยอันแท้จริง ฉะนั้นบนรากฐานของการแก้ปัญหาการเมืองเพื่อความสำเร็จของระบอบประชาธิปไตยดังกล่าวมาแล้วนโยบายแห่งชาติจะพัฒนาระบบเศรษฐกิจแห่งชาติให้สำเร็จด้วยมาตรการต่อไปนี้


๒.๑ ปรับปรุงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติความมุ่งหมายของการ


พัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติคือเพื่อสร้างสังคมประชาธิปไตย สังคมประชาธิปไตยคือสังคมที่มีการปกครองระบอบประชาธิปไตยและมีระบบเศรษฐกิจเสรีนิยมระบบเศรษฐกิจเสรีนิยมที่พัฒนาภายใต้ระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริงจะนำมาซึ่งความไพบูลย์และความยุติธรรม แต่การที่จะบรรลุความมุ่งหมายดังกล่าวนี้ได้จะต้องใช้ระบอบประชาธิปไตยทำการเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจเสรีนิยมที่ล้าหลังและผูกขาดดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบันให้เป็นระบบเสรีนิยมที่ก้าวหน้าและเสรีและแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติมีบทบาทสำคัญอันดับแรกต่อการเปลี่ยนแปลงนี้ฉะนั้นจึงต้องทบทวนโครงสร้างของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและแก้ไขปรับปรุงให้สอดคล้องกับความมุ่งหมายเพื่อบรรลุถึงสังคมประชาธิปไตยที่พัฒนาซึ่งเป็นแผนที่มีเนื้อหาในการทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศอุตสาหกรรมที่เหมาะสมกับสภาวการณ์ของประเทศไทยโดยเฉพาะคือ เน้นหลักการพัฒนาเกษตรกรรม และพัฒนาอุตสาหกรรมพาณิชยกรรมและการขนส่งให้สอดคล้องกัน
                               

๒.๒การกระจายทุน ต้องยกเลิกการรวมศูนย์ทุนเพราะการรวมศูนย์ทุนทำให้วิสาหกิจขนาดใหญ่โดยเฉพาะคือวิสาหกิจเส้นเลือดใหญ่ ได้แก่ 

ธนาคารพาณิชย์ อุตสาหกรรมหนัก การค้าต่างประเทศ การส่งสินค้าหลักภายในประเทศการขนส่งระหว่างประเทศ การขนส่งหลักภายในประเทศมีอำนาจครอบงำและบงการต่อวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดเล็กเป็นอุปสรรคต่อการเติบโตของระบบเศรษฐกิจแห่งชาติ ฉะนั้นจึงต้องลดอำนาจของการครอบงำและบงการดังกล่าวลงโดยทำให้ทุนกระจายไปสู่ประชาชนด้วยมาตรการเหล่านี้ คือ
                                                

๒.๒.๑ การปฏิรูปที่ดินเป็นวิธีการกระจายทุนทางที่ดินไปสู่ชาวไร่ชาวนา ในขณะเดียวกันรายได้ของเจ้าของที่ดินก็กระจายไปสู่รัฐวิสาหกิจอุตสาหกรรมพาณิชยกรรม และอื่นๆ โดยเฉพาะในรูปของพันธบัตรหุ้นส่วนในรัฐวิสาหกิจเหล่านั้นการกระจายทุนทางที่ดินด้วยการปฏิรูปที่ดินเป็นปัจจัยอันจำเป็นอันดับแรกของความเติบโตของระบบเศรษฐกิจแห่งชาติ ทั้งเกษตรกรรมอุตสาหกรรม พาณิชยกรรม และการขนส่งโดยทำให้เกษตรกรรมสามารถสนองวัตถุดิบแก่อุตสาหกรรมอุตสาหกรรมสนองเครื่องมือวัตถุอุปกรณ์และการป้องกันภัยธรรมชาติให้แก่เกษตรกรรมและเกษตรกรรมกับอุตสาหกรรมก็สนองตลาดให้แก่กันและกัน ฉะนั้นการปฏิรูปที่ดินจึงมิใช่เพียงเพื่อเกษตรกรรม หรือเพียงเพื่อช่วยเหลือชาวนาชาวไร่ให้มีที่ทำกินแต่ข้อสำคัญเพื่อความเติบโตของระบบเศรษฐกิจแห่งชาติทั้งระบบ
                                                

๒.๒.๒เปลี่ยนบริษัทครอบครัวของวิสาหกิจเอกชนต่างๆ เป็นบริษัทมหาชน
                                                

๒.๒.๓ให้สหกรณ์เป็นเครื่องมือของการกระจายทุน
                                                

๒.๒.๔รัฐเข้ามามีส่วนในการบริหารวิสาหกิจเอกชนต่างๆ เป็นบริษัทมหาชน
                                

๒.๓สร้างความสมดุลระหว่างภาคสาธารณะกับเอกชน
                                                

ระบบเศรษฐกิจเสรีนิยมของประเทศไทยมิใช่มีแต่เศรษฐกิจเอกชนอย่างเดียว แต่มีเศรษฐกิจสาธารณะโดยเฉพาะคือเศรษฐกิจของรัฐอีกด้วย โดยภาคสาธารณะตั้งอยู่บนรากฐานของภาคเอกชนแต่ภาคสาธารณะแม้ว่าจะเป็นฝ่ายข้างน้อยก็มีความสำคัญในฐานะเป็นหลักนำต่อภาคเอกชนและส่งเสริมช่วยเหลือภาคเอกชน ภาคสาธารณะกับภาคเอกชนจะต้องมีความสมดุลกันจึงจะสามารถเป็นปัจจัยให้แก่การขยายตัวของกันและกัน วิธีการสร้างความสมดุลคือการปรับปรุงการบริหารของภาคสาธารณะ โดยเฉพาะของรัฐวิสาหกิจเสียใหม่ทั้งหมดทั้งฝ่ายสาธารณูปโภคและฝ่ายบริโภค ทั้งที่ผูกขาดและไม่ผูกขาดเพื่อให้รัฐวิสาหกิจเหล่านั้นมีประสิทธิภาพเท่าเทียมหรือเหนือกว่าวิสาหกิจเอกชนเพื่อจะได้ทำหน้าที่เป็นหลักนำและส่งเสริมช่วยเหลือวิสาหกิจเอกชนและเพื่อคานวิสาหกิจเอกชนเพื่อรักษาเสถียรภาพของตลาดการปรับปรุงการบริหารของภาคสาธารณะนั้น ให้องค์การแรงงานของรัฐวิสาหกิจนั้นๆเข้าร่วมดำเนินการด้วย
                                

๒.๔สร้างความสมดุลระหว่างเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม
                                                

สภาพเศรษฐกิจของประเทศไทยปัจจุบันเกษตรกรรมเป็นฝ่ายครอบงำแต่ทิศทางของพัฒนาการจะต้องมุ่งไปสู่ความเป็นอุตสาหกรรมภายใต้สภาวการณ์ดังกล่าว การพัฒนาจะต้องเน้นหนักในการพัฒนาเกษตรกรรมขณะเดียวกันก็ต้องพัฒนาอุตสาหกรรมให้ได้สัดส่วนกันและการพัฒนาอุตสาหกรรมก็ต้องเน้นหนักการพัฒนาอุตสาหกรรมเบา(อุตสาหกรรมแปรรูปวัตถุดิบภายในประเทศ เป็นสินค้าสำเร็จรูปหรือกึ่งสำเร็จรูป)แต่อุตสาหกรรมเบาจะต้องมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมหนัก (อุตสาหกรรมพลังงานอุตสาหกรรมเหล็ก อุตสาหกรรมเครื่องจักร อุตสาหกรรมเคมี)ซึ่งเป็นรากฐานอันสำคัญที่สุดของการทำเกษตรกรรมให้ทันสมัย
                                

๒.๕สร้างความสมดุลระหว่างเมืองกับชนบท
                                                
ที่แล้วมาการขยายตัวของเมืองและชนบทเป็นไปอย่างสม่ำเสมอความเจริญเข้ามารวมอยู่ในเมืองหลวงและนครใหญ่ ชนบทยังล้าหลังห่างไกล ฉะนั้นจึงต้องเร่งรัดสร้างความเจริญให้แก่ชนบทในทุกทาง และทำชนบทให้เป็นที่อยู่ดีกินดีขณะเดียวกันก็ระบายความแออัดยัดเยียด ออกจากเมืองหลวงและนครใหญ่ วิธีการ คือ จะต้องแบ่งสันปันส่วนภาษีอากรระหว่างส่วนกลางส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่นอย่างเหมาะสมและทำให้ส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่นไม่ต้องอาศัยงบประมาณส่วนกลางกับขยายอุตสาหกรรมไปสู่ชนบทให้สอดคล้องกับเกษตรกรรมที่ไหนมีเกษตรกรรมอย่างไรก็ขยายอุตสาหกรรมแปรวัตถุดิบอย่างนั้น สร้างความสมดุลระหว่างเกษตรกรรมกับอุตสาหกรรมขึ้นในท้องถิ่นและยกระดับของชนบทถึงขนาดที่คนไม่ไหลเข้าสู่เมืองแต่ชนบทกลับเป็นที่ดึงดูดคนในเมืองให้ระบายออกไป
                                

๒.๖สร้างความสมดุลระหว่างการขยายตัวทางเศรษฐกิจกับการขยายตัวของประชากร
                                                
ปัญหาร้ายแรงในปัจจุบันคือ การขยายตัวทางเศรษฐกิจไม่ทันการขยายตัวของประชากรจึงจำเป็นอย่างรีบด่วนที่จะต้องเร่งรัดการขยายตัวทางเศรษฐกิจเพื่อสร้างงานให้เพียงพอกับคนขณะเดียวกันจะต้องลดการขยายตัวของประชากรชั่วระยะหนึ่งการเร่งรัดการขยายตัวทางเศรษฐกิจ คือ
                                                
๒.๖.๑เพิ่มการผลิตทางเกษตรกรรม บนรากฐานของการปฏิรูปที่ดินและการทำเกษตรกรรมให้ทันสมัยทำการเพิ่มผลผลิตต่อไร่โดยเฉพาะคือพืชเศรษฐกิจด้วยการใช้วิชาการเกษตรแบบใหม่ให้ทั่วถึง ปรับปรุงระบบชลประทานจัดหาและจำหน่ายปุ๋ยในราคาเยา ส่งเสริมการปลูกผักหมุนเวียนให้การศึกษาด้านเกษตรกรรมแก่ชาวนาชวาไร่อย่างเต็มที่ขยายกิจการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ให้กว้างขวางทั่วประเทศเพิ่มบริการชาวนาชาวไร่อย่างมีประสิทธิภาพจัดประเภทการผลิตเกษตรกรรมให้เหมาะสมกับท้องที่และแนะนำเกษตรกรให้ปลูกพืชให้เหมาะสมกับความต้องการของตลาดประกันราคาสินค้าเกษตรกรรม โดยขยายและรักษาตลาดต่างประเทศอย่างมั่นคงและใช้ค่าพรีเมี่ยมทั้งหมดเป็นกองทุนสงเคราะห์เกษตรกรใช้วิธีการสหกรณ์เข้าช่วยเหลือการขยายเกษตรกรรมอย่างเต็มที่และสนับสนุนการรวมกลุ่มเกษตรกรเป็นสถาบันเกษตร
                                                

๒.๖.๒เพิ่มการผลิตทางอุตสาหกรรม เน้นหนักอุตสาหกรรมที่แปรรูปวัตถุดิบเกษตรกรรมภายในประเทศให้เป็นสินค้าสำเร็จรูปหรือกึ่งสำเร็จรูปพร้อมทั้งขยายการผลิตของอุตสาหกรรมครอบครัว ทั้งนี้เพื่อเพิ่มสินค้าบริโภคให้มากที่สุดและการพัฒนาอุตสาหกรรมดังกล่าวจะต้องมีเป้าหมายเพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมขั้นมูลฐานป้องกันการโจมตีจากต่างประเทศโดยตั้งกำแพงภาษีหรือห้ามสั่งสินค้าเข้าตามความเหมาะสมกระจายอุตสาหกรรมไปยังแหล่งวัตถุดิบ ขยายการฝึกอบรมแรงงานส่งเสริมสมาคมนายจ้างและสหภาพแรงงานและส่งเสริมหลักการผลประโยชน์ซึ่งกันและกันระหว่างทุนกับแรงงานส่งเสริมอุตสาหกรรมท่องเที่ยว
                                                
๒.๖.๓ขยายพาณิชยกรรม ขยายตลาดต่างประเทศทั้งสินค้าเกษตรกรรมและสินค้าอุตสาหกรรมพยายามขยายตลาดเข้าไปยังตลาดสังคมนิยมให้มากเท่าที่สามารถทำได้และรัฐเข้าดำเนินการค้าต่างประเทศเองตามความจำเป็นแก้ไขความเสียเปรียบในวิธีดำเนินการการค้าและธุรกิจของต่างประเทศแก้ไขการเสียเปรียบดุลการค้า โดยลดปริมาณสินค้าปัจจัยบริโภคโดยเฉพาะคือของฟุ่มเฟือยและเพิ่มปริมาณสินค้าปัจจัยการผลิตโดยเฉพาะคือเครื่องจักรพยายามตัดคนกลางในการส่งวัตถุดิบไปต่างประเทศพร้อมทั้งกวดขันการควบคุมมาตรฐานสินค้า เพิ่มปริมาณส่งออกวัตถุดิบแปรรูปการค้าบางอย่างใช้วิธีแลกเปลี่ยนสินค้าโดยตรงส่วนการตลาดภายในประเทศจะต้องทำให้มีเสถียรภาพโดยให้องค์การค้าของรัฐทำหน้าที่ตรึงราคาอย่างมีประสิทธิภาพและใช้สหกรณ์กำจัดคนกลาง
                                                

๒.๖.๔ขยายการขนส่ง โดยการเพิ่มปัจจัยการขนส่งอย่างรอบด้านควบคุมค่าขนส่งให้พอเหมาะพอดีมิให้มีผลกระทบกระเทือนต่อการตลาดและการผลิต
                                                

๒.๖.๕ขยายทุน ระดมการกระจายทุนทั้งทางเกษตรกรรม อุตสาหกรรม พาณิชยกรรม และการขนส่งโดยเน้นหนักในการขยายทุนทางเกษตรกรรม แหล่งของทุนเอามาทั้งจากการผลิต ภาษีอากรการประหยัด และทุนจากต่างประเทศที่ไม่มีเงื่อนไขทางการเมือง
                                                

๒.๖.๖ขยายเทคโนโลยี สร้างนักวิชาการไทยขึ้นแทนนักวิชาการต่างประเทศและเร่งรัดขยายนักวิชาการไทยให้เพียงพอแก่ความต้องการ
                                
๒.๗ควบคุมการเฉลี่ยรายได้แห่งชาติให้เป็นธรรม
                                                
ตามสภาพที่เป็นอยู่รายได้แห่งชาติ๙๐% เฉลี่ยระหว่างคน ๑๐% และรายได้แห่งชาติ ๑๐% และรายได้แห่งชาติ ๑๐% เฉลี่ยระหว่างคน ๙๐% ซึ่งเป็นการเฉลี่ยที่ไม่เป็นธรรมเป็นต้นเหตุให้ช่องว่าระหว่างคนรวยกับคนจนกว้างมากรัฐจึงต้องควบคุมการเฉลี่ยรายได้แห่งชาติให้เป็นธรรมเพื่อลดช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนให้แคบลง การควบคุมเฉลี่ยรายได้แห่งชาตินั้นมิใช่กระทำด้วยกฎหมายหรืออำนาจบังคับแต่กระทำโดยการส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจให้เหมาะสมกับสภาพของประเทศตามนโยบายและแผนอันถูกต้องเพื่อให้เศรษฐกิจแห่งชาติขยายตัวไปได้อย่างราบรื่นและรวดเร็ว เช่นการจำกัดการผูกขาด การกระจายทุน การขยายการผลิต การคัดคนกลาง การเฉลี่ยงบประมาณระหว่างส่วนกลางกับส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่นเป็นต้น
                                                
การพัฒนาระบบเศรษฐกิจอย่างได้ผลตามนโยบายและแผนอันถูกต้องทำให้รายได้เฉลี่ยของประชากรทั่วไปสูงขึ้นและการใช้ระบบผูกขาดควบคุมการครองชีพของประชาชนก็จะเบาบางหรือหมดสิ้นไปทำให้เกิดการเฉลี่ยรายได้แห่งชาติเป็นธรรมโดยอัตโนมัติแม้จะใช้กฎหมายบ้างก็เป็นส่วนประกอบเท่านั้น แต่ถ้าไม่พัฒนาเศรษฐกิจให้ได้ผลการใช้กฎหมายในเรื่องนี้ก็ไม่เป็นประโยชน์ อย่างกฎหมายกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำถ้าการพัฒนาเศรษฐกิจล้มเหลวกฎหมายนั้นเป็นเพียงเศษกระดาษชิ้นหนึ่ง
                                                
รวมความว่าการควบคุมการเฉลี่ยรายได้แห่งชาติก็คือการพัฒนาระบบเศรษฐกิจเสรีนิยมที่เหมาะสมกับประเทศไทยให้เป็นไปตามนโยบายและแผนอันถูกต้องนั่นเอง
                                
๒.๘ร่วมมือทางเศรษฐกิจกับนานาประเทศโดยไม่เลือกระบบสังคมภายใต้หลักการของความเป็นอิสระและพึ่งตนเอง
                                                
การเมืองตั้งอยู่บนรากฐานของเศรษฐกิจฉะนั้น การร่วมมือทางเศรษฐกิจที่จะไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองเลยจึงเป็นไปไม่ได้ไม่ว่าจะเป็นการร่วมมือระหว่างประเทศในระบบสังคมเดียวกันหรือคนละระบบสังคมก็ตามถ้ายอมรับว่าเศรษฐกิจปละการค้าขึ้นต่อการเมืองและดำเนินไปตามหลักการนี้โดยทำให้ความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้ากับประเทศสังคมนิยมและเสรีนิยมด้วยกันขึ้นต่อนโยบายต่างประเทศที่ถูกต้องแล้วการร่วมทางเศรษฐกิจและการค้ากับนานาประเทศโดยไม่เลือกระบบสังคมก็จะเป็นผลดีแก่การพัฒนาระบบเศรษฐกิจแห่งชาติอย่างใหญ่หลวงและนี่คือการร่วมมือภายใต้ของการของความเป็นอิสระและพึ่งพาตนเองตามลักษณะพิเศษของนโยบายต่างประเทศที่ถูกต้องของไทยคือ นโยบายอิสระ
                                
๒.๙ปัญหาหารคลังและการเงิน
                                      
 การคลังและการเงินเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของเศรษฐกิจจึงต้องแก้ปัญหาการคลังและการเงินโดยสัมพันธ์กับการแก้ปัญหาเศรษฐกิจการขยายเศรษฐกิจจะต้องดูจากการผลิตและการภาษีว่าจะขยายได้อย่างไรไม่ให้เกินตัวจนต้องอาศัยเงินกู้จนเกินควรการเก็บภาษีควรเอาจากการผลิตเป็นอันดับแรก ภาษีสินค้าขาเข้าขาออกเป็นอันดับต่อมาภาษีเอกชนเป็นอันดับสุดท้ายแต่ภาษีสินค้าเข้าสินค้าออกจะต้องไม่ทำลายาการส่งเสริมการผลิตและการค้าต่างประเทศ

ปัญหาการเงินที่สำคัญนั้นอยู่ที่จะต้องรักษาเสถียรภาพของเงินบาทวิธีการคือ
 เปลี่ยนมาตรฐานเงินตราต่างประเทศเป็นมาตรฐานทองคำเป็นหลักเพราะในปัจจุบันเงินตราต่างประเทศ เช่นสกุลดอลล่าร์มักจะขาดเสถียรภาพแต่ไม่ได้หมายความว่าจะยกเลิกมาตรฐานเงินตราต่างประเทศ เพียงแต่มาตรฐานดอลล่าร์มาตรฐานปอนด์ ฯลฯ เป็นส่วนประกอบวิธีการเช่นนี้จะเป็นส่วนช่วยอย่างสำคัญในการรักษาเสถียรภาพของเงินบาท

๓.    การสังคม

๓.๑แก้ปัญหาสังคมบนฐานรากการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ประกอบด้วยการศึกษา
อบรม
                                                
ปัญหาสังคมเช่น ปัญหาการว่างงาน ปัญหาอาชญากรรม ปัญหาคอร์รัปชั่น และความเน่าเฟะต่างๆในสังคม ส่วนสำคัญเกิดจากความยากจนและการไม่มีงานทำอันเนื่องมาจากการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของชาติไม่ตก ฉะนั้นถ้าความยากจนและการไม่มีงานทำยังครอบงำสังคมอยู่การพร่ำสอนไม่ให้ทำชั่วและขยันขันแข็งประกอบสัมมาอาชีพจึงไม่ใคร่จะได้ผล เพราะถ้าไม่ประกอบอาชญากรรมทำคอร์รัปชั่น หรือประกอบมิจฉาชีพก็ไม่มีอะไรจะกินและถึงแม้จะขยันขันแข็งก็ไม่มีงานทำแต่การศึกษาอบรมจะได้ผลเต็มที่ถ้าความยากจนบรรเทาลงเพราะคนมีงานทำและอาชญากรรมแก้ไขได้ คอร์รัปชั่นปราบได้ การว่างงานขจัดได้ด้วยการศึกษาอบรมด้วยมาตรการทางกฎหมาย
                               
๓.๒แผนการศึกษาแห่งชาตินี้ขึ้นต่อแผนเศรษฐกิจแห่งชาติ
                                                
สมัยก่อนการบำรุงการศึกษาไม่มีขอบเขตจำกัดเพราะสมัยนั้นความเจริญของบ้านเมืองขึ้นอยู่กับการศึกษาของประชาชนยิ่งขยายการศึกษามากเพียงใดบ้านเมืองก็ยิ่งเจริญมากเพียงนั้น แต่ในปัจจุบันการขยายตัวทางการศึกษาถูกจำกัดด้วยการขยายตัวทางเศรษฐกิจการขยายการศึกษาอย่างไม่มีขอบเขตจำกัด แทนที่จะเป็นผลดีกลับเป็นผลร้ายโดยเฉพาะจะเป็นเหตุหนึ่งของการว่างงานการจำกัดการขยายตัวของการศึกษานั้นไม่หมายถึงการลดงบประมาณการศึกษางบประมาณการศึกษาจะต้องเพิ่มขึ้นโดยลำดับอย่างแน่นอนการจำกัดการขยายตัวของการศึกษา หมายถึงแผนการศึกษาจะต้องขึ้นต่อแผนเศรษฐกิจซึ่งจะกำหนดให้การขยายการศึกษาเป็นไปตามความต้องการของการพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติในสภาวการณ์ใด ระดับการศึกษาใด สาขาวิชาใดเป็นความต้องการก็เพิ่มขึ้นส่วนด้านสามัญการศึกษาจะต้องขยายให้มากที่สุดไม่มีขอบเขตจำกัดตามระดับความสำเร็จของการพัฒนาเศรษฐกิจเป็นลำดับไป ทั้งนี้จะเป็นไปโดยขยายการศึกษาชั้นประถมและมัธยมของรัฐให้มากที่สุดและควบคุมการศึกษาของเอกชนอย่างเคร่งครัดการศึกษาของชาติจะประสบความสำเร็จสมความมุ่งหมายขึ้นอยู่กับความถูกต้องของแผนเศรษฐกิจแห่งชาติและประสานแผนการศึกษาแห่งชาติเข้ากับแผนเศรษฐกิจแห่งชาติ
                                
๓.๓ดำเนินการประกันสังคมทั่วทุกด้าน
                                        
ความไพบูลย์ทางเศรษฐกิจอันจากผลสำเร็จของการสร้างระบบ
เศรษฐกิจของระบอบประชาธิปไตยตามนโยบายที่ถูกต้องย่อมจะเป็นปัจจัยให้มีงานให้ประชาชนทำให้มากขึ้นและเป็นปัจจัยให้รัฐสามารถขยายการศึกษาการสาธารณสุขและสาธารณูปการอย่างอื่นให้กว้างขวางออกไปตามส่วน ประชาชนมรโอกาสทำงานมีโอกาสศึกษา มีโอกาสรักษาพยาบาล และมีโอกาสอื่นๆ เพิ่มขึ้นโดยลำดับเมื่อเกิดความไพบูลย์ทางเศรษฐกิจ การว่างงานก็ค่อยๆหมดไป การศึกษาโดยไม่ต้องเสียค่าเล่าเรียนรักษาพยาบาลโดยไม่เสียค่ารักษาตลอดจนบำเหน็จบำนาญของคนชราและทุพลภาพก็จะมีได้โดยลำดับ ฉะนั้นความไพบูลย์ทางเศรษฐกิจจึงเป็นการประกันสังคมอยู่ในตัวและมาตรการประกันสังคมที่มีประสิทธิภาพที่สุดก็คือการดำเนินการพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติตามนโยบายและแผนอันถูกต้องให้บรรลุผลสำเร็จนั่นเองกฎหมายประกันสังคมจะต้องออกตามผลสำเร็จของการพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติแม้ว่าจะออกกฎหมายประกันสังคมอย่างสวยงามเพียงใดแต่ถ้าการพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติล้มเหลว กฎหมายนั้นก็ใช้ปฏิบัติไม่ได้


๔.    การป้องกันประเทศ

๔.๑ หน้าที่อันศักดิ์สิทธิ์ของกองทัพแห่งชาติ
                
กองทัพแห่งชาติไม่ใช่กองทัพของบุคคลหรือคณะบุคคลแต่เป็นกองทัพ
ของชาติและของประชาชนกองทัพแห่งชาติไม่สนับสนุนการเมืองของบุคคลหรือคณะบุคคลแต่การสนับสนุนการเมืองของชาติแต่หมายความว่าทหารไม่สนับสนุนการเมืองของบุคคลหรือการเมืองไม่ถูกต้องเท่านั้นเอกราชของชาติและอธิปไตยของปวงชนคือสาระสำคัญของการเมืองของชาติซึ่งต้องอาศัยความสนับสนุนของกองทัพแห่งชาติจึงจะดำรงอยู่ได้ ฉะนั้นหน้าที่อันศักดิ์สิทธิ์ของกองทัพแห่งชาติ จึงอยู่ที่การรักษาเอกราชของชาติและรักษาอธิปไตยของปวงชน
                               

๔.๒ ปรับปรุงขีดความสามารถของกองทัพแห่งชาติ
                                                
การที่กองทัพแห่งชาติจะปฏิบัติหน้าที่อันศักดิ์สิทธิ์สองประการอย่างมีประสิทธิภาพได้จะต้องปรับปรุงขีดความสามารถของกองทัพให้สูงขึ้นเนื่องจากสงครามปัจจุบันซึ่งกองทัพแห่งชาติดำเนินอยู่มีลักษณะแตกต่างกันโดยสิ้นเชิงกับสงครามในอดีตทำให้ยุทธศาสตร์ของกองทัพแห่งชาติที่มีอยู่เดิมไม่เพียงพอสำหรับทำสงครามในลักษณะใหม่ให้ชนะฉะนั้น สาระสำคัญของการปรับปรุงขีดความสามารถของกองทัพแห่งชาติจึงอยู่ที่การปรับปรุงยุทธศาสตร์ เมื่อปรับปรุงยุทธศาสตร์ให้สมบูรณ์ ทั้งยุทธศาสตร์ทหารและยุทธศาสตร์การเมืองแล้วการปรับปรุงความสามารถอื่นๆ เช่น ด้านอาวุธยุทโธปกรณ์ก็จะสำเร็จตามไปด้วย
                                
๔.๓ปรับปรุงสวัสดิการทหาร
                                                
การที่กองทัพจะสามารถปฏิบัติหน้าที่ด้วยขีดความสามารถในระดับสูงได้นั้นทหารจะต้องได้รับสวัสดิการในทุกด้านอย่างเพียงพอ ฉะนั้น จึงต้องปรับปรุงสวัสดิการทหารในทุกด้านให้ดีที่สุดเท่าที่สามารถทำได้


๕.    นโยบายต่างประเทศ

๕.๑รักษาลักษณะพิเศษของนโยบายต่างประเทศของชาติไทย
                
นโยบายต่างประเทศกำหนดขึ้นจากรากฐานของวิวัฒนาการทาง
ประวัติศาสตร์และทางสังคมของประเทศไทยภายใต้หลักนำของลักษณะพิเศษประจำชาติไทย ๓ ประการ คือ
                                                
๕.๑.๑ รักความเป็นไท
                                                
๕.๑.๒อหิงสา
                                                
๕.๑.๓รักจักประสานประโยชน์
                                
ชาติไทยเป็นชาติเก่าแก่ซึ่งมีลักษณะประจำชาติสูงส่ง จึงมีนโยบายต่างประเทศอันแน่นอนเป็นมรดกล้ำค่าตกทอดมาแต่บรรพกาล เรียกว่า “นโยบายอิสระ”วิธีดำเนินนโยบายต่างประเทศที่ถูกต้องก็คือ นำเอานโยบายอิสระมาใช้กับปัญหาความสัมพันธ์กับต่างประเทศตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปฉะนั้น สำหรับนโยบายต่างประเทศของไทยแล้ว นโยบายหลักไม่เปลี่ยนแปลงแต่นโยบายตามสถานการณ์เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอและจะต้องใช้นโยบายสองอย่างนี้ควบคู่กันตลอดไป โดยนโยบายตามสถานการณ์ตั้งอยู่บนรากฐานของนโยบายหลักไม่ว่าจะดำเนินนโยบายต่อประเทศใด หรือต่อปัญหาใดในสถานการณ์ใด เช่นต่อสหรัฐอเมริกา ต่อสาธารณรัฐประชาชนจีน ต่อรัสเซีย ต่อสหประชาชาติ ต่ออาเซี่ยนต่ออินโดจีน ฯลฯ จะต้องยึดถือนโยบายอิสระเป็นหลักอยู่ตลอดเวลาวิธีดำเนินนโยบายต่างประเทศเช่นนี้ประเทศไทยเคยใช้มาแต่อดีตทำให้รอดพ้นภัยพิบัติและดำรงเอกราชอธิปไตยไว้ได้
                                
ในปัจจุบันสภาวการณ์ทางภูมิศาสตร์และทางการเมืองกำหนดให้ประเทศไทยเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญที่สุดในความขัดแย้งของโลกทั้งความขัดแย้งภายในระบบสังคมนิยม และในท่ามกลางความขัดแย้งของโลกปัจจุบันไม่มีประเทศใดไม่ว่ามหาอำนาจหรือมิใช่มหาอำนาจจะเป็นหลักในการแก้ความขัดแย้งได้ทำให้มีอันตรายแห่งสงครามทั้งในขอบเขตภูมิภาคและขอบเขตโลกแต่ประเทศไทยซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญที่สุดและมีนโยบายต่างประเทศที่อยู่บนรากฐานของลักษณะประจำชาติไทยอันสูงส่ง เป็นประเทศเดียวที่จะอยู่ในฐานะที่จะแก้ความขัดแย้งของโลกป้องกันสงครามและรักษาสันติภาพซึ่งเป็นหลักประกันของการรักษาผลประโยชน์ของประเทศไทยอย่างถึงที่สุด ฉะนั้นประเทศไทยจึงต้องวางตัวเป็นหลักตามความหมายที่แท้จริงของ “นโยบายอิสระ”ในท่ามกลางความขัดแย้งทั้งในภูมิภาคและในโลก
                                
๕.๒ส่งเสริมสัมพันธไมตรีอันดีและความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจการค้ากับทุกประเทศโดยไม่คำนึงถึงความแตกต่างในระบอบการปกครอง ระบบเศรษฐกิจและสังคม
                                
๕.๓ส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศโดยมีหลักประกันที่เป็นธรรมและความร่วมมือกับประเทศกำลังพัฒนา เพื่อเสริมสร้างประโยชน์ในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมระหว่างประเทศ
                                
๕.๔ยับยั้งการสร้างสถานการณ์เพื่อเปลี่ยนสงครามในประเทศเป็นสงครามประชาชาติและกำจัดบรรยากาศสงครามประชาชาติ
                                
๕.๕ดำเนินนโยบายเป็นกลางบนรากฐานของ “นโยบายอิสระ” ของชาติไทยในปัญหาความขัดแย้งในระบบสังคมนิยมเรียกร้องให้มีการประชุมนานาชาติเพื่อรับรองสถานภาพเป็นกลางของประเทศไทยเพื่อเป็นเงื่อนไขให้ประเทศไทยในฐานะเป็นจุกยุทธศาสตร์อันสำคัญที่สุดในความขัดแย้งของโลกปัจจุบันได้แสดงบทบาทอย่างเต็มภาคภูมิในการป้องกันสงคราม และรักษาสันติภาพถาวรของโลก