วันอาทิตย์ที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

แนวทางปฏิบัติที่ส่วนราชการต่างๆใช้เป็นแนวทางในการกำหนดแผนงานต่างๆ

แนวทางปฏิบัติที่ส่วนราชการต่างๆใช้เป็นแนวทางในการกำหนดแผนงานต่างๆต่อไปนั้น นอกจากคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 66/23 ลงวันที่ 23 เมษายน 2523 แล้ว ให้ใช้แนวทางดังต่อไปนี้ประกอบด้วย คือ 

1. การสร้างความเชื่อมั่นศรัทธาต่อคุณค่าของระบอบประชาธิปไตย เพื่อให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นศรัทธาในคุณค่าของระบอบประชาธิปไตยว่าจะสามารถทำให้ประชาชนมีชีวิตอยู่อย่างเสรี มีความสุข มีเกียรติ มีหลักประกัน และมีความหวัง โดยให้มีแนวทางการแก้ปัญหาดังต่อไปนี้ คือ 

       1.1  ส่งเสริมความรู้ประชาธิปไตยที่ถูกต้องอย่างกว้างขวางทั้งในด้านทฤษฎีและการประยุกต์ทฤษฎีให้เข้ากับสถานการณ์นั้นๆ 
       1.2  ให้ข้อมูลข่าวสาร และชี้แจงสถานการณ์ที่ถูกต้องสมบูรณ์โดยต่อเนื่อง อีกทั้งเชิดชูประชาธิปไตยให้ปรากฎแก่ประชาชนทั้งทางเปิดและทางปิดโดยใช้เครื่องมือประชาสัมพันธ์ของรัฐ สื่อมวลชน และนักวิชาการ เป็นสื่อกลางในการถ่ายทอด ให้ประชาชนมีข้อมูลด้านดีของประชาธิปไตยอย่างเป็นธรรม เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้วิจารณญาณทางการเมืองอย่างอิสระ กล่าวโดยสรุปได้ว่าเป็นการหยิบยกสภาพในแง่ดีขึ้นมาใช้ให้เกิดประโยชน์
        1.3  จัดให้มีการอบรมความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับประชาธิปไตยแก่สื่อมวลชนของรัฐและเอกชน เพื่อเป็นเครื่องมือถ่ายทอดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องไปสู่ประชาชน 
        1.4  ให้ข้าราชการปฏิบัติตนให้เป็นแบบอย่างในการเป็นประชาธิปไตยเพื่อก่อให้เกิดศรัทธาแก่ประชาชน 

2. การเร่งรัดการปฏิบัติตามหน้าที่ในระบอบประชาธิปไตยของกลไกรัฐ ให้แยกดำเนินการ ออกเป็น 2 ระดับ คือ 

         2.1  การบริหารระดับสูง เนื่องจากผู้บริหารระดับสูงหรือฝ่ายการเมือง ได้แก่นักการเมือง ไทยการเมือง และผู้บริหารประเทศมีความสำคัญในฐานะเป็นผู้ตัดสินใจในการบริหารประเทศและเป็นผู้นำในการต่อสู้เพื่อเอาชนะคอมมิวนิสต์ จึงมีแนวทางเพื่อให้ผู้บริหารระดับสูงสามารถแก้ไขปัญหาได้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นดังนี้คือ
                1) กำหนดนโยบายที่ชัดเจนและเป็นเอกภาพโดยเฉพาะในการแก้ไขปัญหาพื้นฐานของชาติ หากเกิดผิดพลาดต้องรับผิดชอบ 
                2) ใช้ความเข้มแข็ง เด็ดขาดโดยคำนึงถึงความถูกต้องและผลประโยชน์ของประเทศชาติและของประชาชนส่วนรวมเป็นสำคัญ แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นให้สำเร็จลุล่วงโดยเร็วทันต่อสถานการณ์และความต้องการเร่งด่วน 
                3) เปิดโอกาสให้หลายๆฝ่าย อาทิ นักวิชาการ สื่อมวลชน กลุ่มผลประโยชน์ และผู้เชี่ยวชาญในทุกสาขาอาชีพเข้ามามีส่วนช่วยในการแก้ไขปัญหา 
                4) ปรับปรุงรูปแบบการบริหารราชการในการสั่งการติดตามการแก้ปัญหาสำคัญอย่างมีประสิทธิภาพ จัดให้มีชุดเจ้าหน้าที่ดำเนินการเป็นเรื่องๆ โดยคัดเลือกเจ้าหน้าที่มีความรู้และประสบการณ์ด้านต่างๆจากทุกส่วนราชการมาช่วยงาน 
                5) ปรับปรุงระบบราชการให้เป็นประชาธิปไตยเพื่อให้เอื้ออำนวยต่อการสถาปนา การพัฒนาการปกครองระบอบประชาธิปไตย โดยการให้ข้าราชการมีจิตสำนึกทางการเมือง และทำให้ข้าราชการมีอุดมคติในการสนองตอบประชาชนอย่างมีความรับผิดชอบตลอดจนควบคุมให้ข้าราชการดำเนินการใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด และสร้างความยุติธรรมให้ประชาชนโดยถ้วนหน้า 
                6) ใช้กลไกรัฐสภาช่วยแก้ปัญหาข้อขัดแย้งที่เกี่ยวข้องกับประชาชนหมู่มาก เพื่อก่อให้เกิดความยุติธรรม และเป็นที่ยอมรับตามครรลองประชาธิปไตยตลอดจนออกกฏหมายที่สามารถปฏิบัติได้จริง
                7) ใช้อำนาจที่มีอยู่ดำเนินการปราบปรามกลุ่มอิทธิพลที่มีอำนาจเกินกว่าขีดความสามารถของเจ้าหน้าที่อย่างจริงจัง 
       
            2.2 การบริหารงานที่เกี่ยวกับข้าราชการประจำ เนื่องจากข้าราชการประจำมีบทบาทสำคัญในฐานะเป็นกลไกนำนโยบายของรัฐไปปฏิบัติ แต่ยังขาดจิตสำนึกและอุดมการณ์จึงทำให้ขาดประสิทธิภาพเท่าที่ควรในการทำอำนาจประชาธิปไตยให้เป็นของปวงชนและทำกฎหมายให้ศักดิ์สิทธิ์จึงมีแนวทางในการเร่งรัดการปฏิบัติหน้าที่ในระบอบประชาธิปไตยของข้าราชการประจำดังต่อไปนี้
                1) ให้ข้าราชการ โดยเฉพาะระดับสูง ศึกษานโยบายของรัฐให้เข้าใจแจ่มชัดจนเกิดความมั่นใจแล้วแบ่งความรับผิดชอบลดหลั่นลงไป
                2) ค้นหาสาเหตุของปัญหาการคอรัปชั่นที่เกิดขึ้นและหาทางแก้ไขโดยด่วนด้วยความเด็ดขาดและจริงจังโดยในระยะเริ่มแรกควรมุ่งแก้ไขข้าราชการในระดับสูงโดยเฉพาะระดับหัวหน้าหน่วยก่อน เพื่อเป็นตัวอย่าง ซึ่งส่งผลกระทบต่อระดับรองๆลงมาเองแม้ไม่สมบูรณ์ก็จะได้ผลในระดับหนึ่ง เมื่อทำการต่อเนื่องความสำเร็จจะเพิ่มขึ้น
                3) กำชับให้มีการปฏิบัติตามระเบียบและคำสั่งต่างๆโดยเคร่งครัด และดำเนินการลงโทษผู้ฝ่าฝืนให้เป็นตัวอย่าง นอกจากนั้น ต้องกำกับดูแลมิให้มีการสั่งหรือขอร้องในลักษณะที่ทำให้ข้าราชการต้องรับผิดชอบนอกเหนืออำนาจหน้าที่หรือเกินขีดความสามารถ
                4) ผู้บังคับบัญชาระดับสูงต้องให้ความช่วยเหลือและให้หลักประกันแก่ข้าราชการที่อุทิศตนต่องานราชการแต่ต้องถูกกดดันจากผู้มีอิทธิพลต่างๆ
                5) ดูแล กวดขันไม่ให้ข้าราชการทำตนเป็นเจ้าขุนมูลนายเอารัดเอาเปรียบขูดรีดประชาชน และลงโทษข้าราชการที่ฝ่าฝืนอย่างจริงจัง
                6) พัฒนาขีดความสามารถ ตลอดจนอบรมและปลูกฝังเพื่อสร้างจิตสำนึกให้ข้าราชการทุกระดับตระหนักถึงฐานะและภาระหน้าที่ในการเสนอสนองต่อประชาชนอย่างมีความรับผิดชอบเสียสละและซื่อตรง
                7) ปรับปรุงระบบราชการให้มีการกระจายอำนาจมากขึ้น โดยแก้ไขโครงสร้างการจัดการระเบียบบริหารราชการให้มีการกระจายอำนาจกาบริหารไปสู่ส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่นให้ข้าราชการในระดับต่างๆสามารถตัดสินใจหรือสั่งการในเรื่องรับผิดชอบที่เป็นปัญหาในทางปฏิบัติและทำให้เกิดความฉับไวมากยิ่งขึ้น
                8) ปรับปรุงให้ข้าราชการโดยเฉพาะชั้นผู้น้อย มีรายได้และสวัสดิการเพียงพอ เพื่อให้สามารถรักษาเกียรติศักดิ์ศรีของตนไว้ได้
                9) เชิดชูเกียรติของข้าราชการที่ดีเด่น
              10) พิจารณาเร่งรัดปรับปรุงระบบการประเมินผลการปฏิบัติงานของข้าราชการให้มีประสิทธิภาพและได้ผลอย่างเต็มที่

 ยังมีต่อ..