วันจันทร์ที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

ฎีกาถวายคืนพระราชอำนาจเมื่อปี ๓ มีนาคม ๒๕๔๙ ตอนที่ ๓

ฎีกาถวายคืนพระราชอำนาจเมื่อปี ๓ มีนาคม ๒๕๔๙ ตอนที่ ๓


๖.     วัฒนธรรม

๖.๑ กำจัดวัฒนธรรมต่ำทรามที่แพร่หลายมาจากต่างประเทศและรับวัฒนธรรม
ต่างประเทศโดยกลั่นกรอง
                                                
วัฒนธรรมเป็นองค์ประกอบสำคัญอย่างหนึ่งของระบบสังคมและมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับองค์ประกอบสำคัญอีกสองประการ คือ เศรษฐกิจและการเมืองฉะนั้น การแก้ปัญหาวัฒนธรรมจึงต้องประสานกับการแก้ปัญหาเศรษฐกิจและการเมืองเศรษฐกิจซึ่งระบบผูกขาดของเอกชนครอบงำการครองชีพของประชาชนและการเมืองที่ไม่เป็นประชาธิปไตย นอกจากจะบั่นทอนวัฒนธรรมอันดีงามแล้วยังเป็นรองรับวัฒนธรรมต่ำทรามที่แพร่มาจากต่างประเทศอีกด้วยการพัฒนาเศรษฐกิจระบบสังคมนิยมที่ก้าวหน้า และพัฒนาการเมืองให้เป็นระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริงคือมาตรการพื้นฐานในการป้องกันและกำจัดวัฒนธรรมต่ำทรามต่างๆทั้งที่เกิดขึ้นภายในประเทศและที่แพร่มาจากต่างประเทศในขณะเดียวกันก็ใช้มาตรการทางกฎหมายและทางการศึกษาอบรมควบคู่กันไปด้วยวัฒนธรรมต่ำทรามนั้นไม่เป็นสิ่งพึงประสงค์ไม่ว่าของประเทศใดๆแต่วัฒนธรรมที่ดีของแต่ละชาติก็ไม่ใช่ว่าจะยอมรับซึ่งกันและกันได้เสมอไปวัฒนธรรมชาติหนึ่งถือว่าดี อีกชาติหนึ่งอาจถือว่าไม่ดีก็ได้ เช่นประเพณีความสัมพันธ์ระหว่างชายหญิงซึ่งชาติหนึ่งถือว่าดีงามแต่อีกชาติหนึ่งถือว่าเป็นการอนาจารไปก็มี ฉะนั้น การรับวัฒนธรรมจากต่างชาติจึงต้องคัดเลือกกลั่นกรองเอาแต่เฉพาะไม่ขัดกับวัฒนธรรมไทยแม้ว่าวัฒนธรรมเหล่านั้นจะไม่ใช่วัฒนธรรมต่ำทรามก็ตาม
                                

๖.๒เชิดชูวัฒนธรรมไทยอันสูงส่งมาแต่บรรพกาล
                                                
ภูมิแห่งจิตของคนในชาติซึ่งแสดงออกทางขนบธรรมเนียมประเพณีศิลปะ วรรณคดี และความสัมพันธ์กับต่างชาติ เป็นต้นนั้น สูงส่งอย่างยิ่งซึ่งจะต้องรักษาและเชิดชูไว้ตลอดไป วัฒนธรรมอันสูงส่งก็คือวัฒนธรรมของประชาชนถ้าไม่มีประชาธิปไตย วัฒนธรรมของประชาชนก็จะไม่สามารถพัฒนาอย่างเต็มที่ได้การปกครองประเทศไทยมีลักษณะประชาธิปไตยมาแต่บรรพกาล นี่คือปัจจัยสำคัญให้วัฒนธรรมของประชาชนเชื้อชาติเหล่านั้นได้พัฒนาไปอย่างเต็มที่แม้ว่าวัฒนธรรมของชนเชื้อชาติอื่นจะแตกต่างกับวัฒนธรรมของชนชาติเชื้อไทยก็ตามแต่เมื่อเป็นวัฒนธรรมของประชาชนก็ย่อมเป็นวัฒนธรรมที่ดีงามทั้งสิ้น ฉะนั้นการให้เสรีภาพทางวัฒนธรรมจึงมีผลดีโดยเฉพาะคือผลดีในการกระชับความสามัคคีแห่งชาติ
                                
๖.๓พัฒนาวัฒนธรรมทางการเมืองบนรากฐานของการส่งเสริมทรรศนะที่ถือว่าการเมืองคือคุณธรรมตามคตินิยมของคนไทยแต่โบราณ โดยลักษณะการเมืองคือคุณธรรมเพราะมีความมุ่งหมายเพื่อความสุขของประชาชน ความจริงข้อนี้คนไทยได้ถือเป็นคตินิยมมาแต่โบราณเช่น ทศพิธราชธรรม เป็นต้น ในบรรดาระบอบการปกครองทั้งหลายระบอบประชาธิปไตยเป็นระบอบที่มีคุณธรรมสูงสุดเพราะระบอบประชาธิปไตยเป็นระบอบที่รักษาผลประโยชน์ของประชาชน ดังนั้นประชาธิปไตยก็คือ “ธรรมาธิปไตย” นั่นเอง ดังนั้น จึงไม่มีการเมืองใดจะมีคุณธรรมสูงส่งเสมอด้วยประชาธิปไตยและดังนั้นถ้าจะเป็นประชาธิปไตยก็จำเป็นจะต้องขจัดทรรศนะที่เห็นการเมืองเป็นของสกปรกและกลับไปสู่ทรรศนะเดิม คือ การเมืองเป็นคุณธรรมต่อไปและบนรากฐานของทรรศนะที่ถูกต้องนี้ ความอดทนต่อความเห็นที่ตรงกันข้ามของตนความมีวินัย ความยอมรับเสียงข้างมากความยืนหยัดในหลักการที่ถูกต้องแม้ว่าจะเป็นฝ่ายข้างน้อย ความใจกว้างความยอมแพ้ต่อเหตุผล ความเคารพในหลักวิชา ความอุทิศตนเพื่อชาติ เพื่อประชาชนและเพื่อคุณธรรม เป็นต้น ให้มีทรรศนะที่เห็นการเมืองเป็นคุณธรรมและให้สมบูรณ์ด้วยวัฒนธรรมทางการเมืองอย่างมากที่สุด
                                
๖.๔ส่งเสริมความบริสุทธิ์ผุดผ่องของพุทธศาสนา อันเป็นศาสนาประจำชาติไทยรวมทั้งศาสนาอื่นๆ ในประเทศไทย
                                                
พระพุทธศาสนาเป็นองค์ประกอบอันสำคัญที่สุดของวัฒนธรรมไทยเพราะหลักธรรมของพระพุทธศาสนาสอดคล้องอย่างลึกซึ้งกับลักษณะพิเศษประจำชาติไทย โดยเฉพาะคือ อหิงสา (ความไม่เบียดเบียน) เป็นลักษณะอย่างหนึ่งของคนไทยและหลักธรรมอย่างหนึ่งของพระพุทธศาสนา คือ อหิงสา ปรโม ธัมโม(ความไม่เบียดเบียนเป็นธรรมอย่างยิ่ง) ด้วยเหตุนี้คนไทยซึ่งรับเอาพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติจึงเข้ากับศาสนาอื่นได้เป็นอย่างดีในประวัติศาสตร์ของชาติไทยไม่เคยมีการเลือกปฏิบัติต่อศาสนาอื่นและไม่เคยมีเหตุการณ์ร้ายแรงอันเนื่องมาจากความแตกต่างทางศาสนาการที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะการนับถือพุทธศาสนาของคนไทยนั้นโดยพื้นฐานเป็นการนับถือหลักธรรมอันแท้จริง หลักธรรมอันแท้จริงนี่เองคือความบริสุทธิ์ผุดผ่องของศาสนาซึ่งควรเน้นหนักในการส่งเสริมโดยร่วมมือกับบรรดานักปฏิวัติที่ถูกต้อง
                                                
เหล่านี้คือ นโยบายหลักแห่งชาติ ที่มีปณิธานอันแน่วแน่ที่จะปฏิบัตินโยบายนี้ให้เป็นผลสำเร็จโดยถือเป็นภารกิจอันสำคัญที่สุดนำประเทศชาติและประชาชนให้ผ่านพ้นภัยพิบัติผลักดันความเจริญก้าวหน้าไปสู่สังคมประชาธิปไตยยังความไพบูลย์แก่ประเทศชาติและความผาสุกแก่ประชาชนและรักษาชาติไทยให้ดำรงอยู่ชั่วนิรันดร

นโยบายแห่งชาติเร่งด่วนเฉพาะหน้า

๑.     ต่อต้านการรุกรานของต่างชาติทั้งทางด้านดินแดนและทางด้านเศรษฐกิจ เช่นกรณีชายแดนและกรณีแปรรูปรัฐวิสาหกิจโดยยกเลิกกฎหมายและแก้ไขข้อตกลงกับต่างชาติที่ไทยเสียเปรียบ เช่น กฎหมายขายชาติ ๑๑ฉบับ และข้อตกลงเขตการค้าเสรี (FTA)

๒.   ยกเลิกการกดขี่ข่มเหงประชาชนโดยเจ้าหน้าที่ในทุกกรณีทันที

๓.    ตรึงและพยุงราคาสินค้าโดยใช้รัฐวิสาหกิจที่ปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพ เป็นเครื่องมือสำคัญและให้พรรคการเมืองและองค์การมวลชนร่วมดำเนินการด้วย

๔.    ประกันราคาผลิตผลเกษตรกรรมอย่างมีประสิทธิภาพให้ผลประโยชน์ตกแก่ชาวนาชาวไร่อย่างทั่วถึง โดยให้พรรคการเมืองและองค์การมวลชนร่วมดำเนินการด้วย

๕.    ส่งเสริมการจัดตั้งองค์การชาวนาชาวไร่ให้องค์การชาวนาชาวไร่ส่งตัวแทนเข้าร่วมกับฝ่ายรัฐบาลเพื่อพิจารณากำหนดนโยบายต่างๆ ในการแก้ปัญหาเกี่ยวกับเกษตรกรรมรวมทั้งปัญหาการปฏิรูปที่ดิน

๖.     ให้ผู้แทนพนักงานรัฐวิสาหกิจโดยทางองค์การของผู้ใช้แรงงานที่แท้จริงเข้าร่วมกับฝ่ายรัฐบาลเพื่อพิจารณากำหนดนโยบายและมาตรการในการปรับปรุงรัฐวิสาหกิจให้มีประสิทธิภาพให้เทียบเท่าหรือเหนือกว่าวิสาหกิจเอกชน

๗.    ออกกฎหมายประกันสังคมตามมาตรฐานสากลของประเทศประชาธิปไตยทั่วโลกและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการหางานและส่งคนงานไปต่างประเทศ

๘.    แก้ไขสาธารณูปโภคให้รับใช้ประชาชนอย่างแท้จริง

๙.     ปราบอาชญากรรมและคอร์รัปชั่น และรักษาความปลอดภัยของประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพโดยให้พรรคการเมืองและองค์การมวลชนร่วมมือดำเนินการด้วย

๑๐.  ปรับปรุงระบบราชการให้เป็นประชาธิปไตยโดยใช้มาตรการประสานกลไกรัฐกับกลไกพรรคเป็นเครื่องมือสำคัญ

๑๑. ยกเลิกพ.ร.บ. พรรคการเมืองและกฎหมายเลือกตั้งให้พรรคการเมืองพัฒนาตามธรรมชาติมิใช่โดยกฎหมายบังคับ

๑๒.  เมื่อสมาชิกวุฒิสภาพ้นจากตำแหน่งตามวาระหรือด้วยเหตุผลอื่นให้ตั้งสมาชิกวุฒิสภาแทนตำแหน่งที่ว่างลงตามสาขาอาชีพอย่างยุติธรรม

๑๓.  ยกเลิกคณะกรรมการการเลือกตั้งสภาการเลือกตั้งแห่งชาติ ประกอบด้วยส่วนราชการ พรรคการเมือง และองค์การมวลชนทำหน้าที่ดำเนินการเลือกตั้งทั้งการเลือกตั้งทั่วไปและการเลือกตั้งซ่อม เพื่อให้เป็นไปตามหลัก “เลือกตั้งเสรี”และ “ผู้มีสิทธิหนึ่งคนเลือกผู้แทนคนเดียว”

๑๔.  ยกเลิกหรือแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายที่ทำลายหรือบั่นทอนเสรีภาพของบุคคล

๑๕.  ตั้งคณะกรรมการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญประกอบด้วยพรรคการเมือง กลุ่มการเมือง องค์การมวลชน นักวิชาการ และข้าราชการทำหน้าที่แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์และเมื่อรัฐสภาลงมติเห็นชอบแล้ว ให้ประชาชนแสดงประชามติก่อนประกาศใช้ ทั้งนี้ให้เสร็จสิ้นก่อนเลือกตั้งทั่วไปครั้งหน้า

๑๖.  รณรงค์ให้เกิดความสามัคคีทั้งความสามัคคีทางการเมืองและความสามัคคีแห่งชาติ ตามพระราชดำรัส “รู้รักสามัคคี”  
      

(๓)  การเลือกตั้งทั่วไปวันที่ ๒ เมษายน ๒๕๔๙ที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และ
รักษาการรัฐบาลได้ดำเนินการนั้นเป็นการเลือกตั้งแบบเผด็จการของการปกครองแบบเผด็จการรัฐสภา ดังนั้นจึงขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา๒ “ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตย มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข”และขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา ๓ “อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย.....”สร้างความแตกความสามัคคีทางการเมืองและความสามัคคีแห่งชาติตามพระราชดำรัส “รู้รักสามัคคี”ประชาชนต่อต้านคัดค้านอย่างมากมายยิ่งทำให้เกิดปัญหาชาติทวีความรุนแรงขึ้นในชาติบ้านเมืองมุ่งไปสู่ความไม่สงบเรียบร้อย เกิดจลาจลมิคสัญญีกลียุคและอาจขยายผลขึ้นสู่สงครามกลางเมืองขั้นตอนใหม่นำไปสู่การสิ้นชาติสิ้นแผ่นดิน เป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ ศาสนาและสถาบันพระมหากษัตริย์
                
หลักนิติธรรม (Rule of Law) กำหนดไว้ว่า “ความมั่นคงแห่งชาติเป็นกฎหมายสูงสุด” (Supreme) และกฎหมายใดขัดต่อหลักนิติธรรมย่อมเป็นโมฆะแม้กระทั่งกฎหมายรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายหลัก (Principle Law) เมื่อการเลือกตั้งแบบเผด็จการขณะนี้ทำลายความมั่นคงแห่งชาติจึงขัดต่อกฎหมายสูงสุด ย่อมเป็นความชอบด้วยกฎหมายสูงสุดและกฎหมายหลัก (รัฐธรรมนูญ)และชอบธรรมอย่างยิ่งที่จะยกเลิกการเลือกตั้งแบบเผด็จการเพื่อรักษาความมั่นคงแห่งชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์
                
ด้วยหลักการและเหตุผลอันชอบธรรมและถูกต้องจึงขอทรงมีพระราชวินิจฉัยยกเลิกการเลือกตั้งแบบเผด็จการเพื่อนำไปสู่การยกเลิกการปกครองแบบเผด็จการสร้างการปกครองแบบประชาธิปไตยสร้างการเลือกตั้งแบบประชาธิปไตยทรงพระราชทานพระราชกฤษฎีกาตามกฎหมายรัฐธรรมนูญพ.ศ. ๒๕๔๐ มาตรา ๒๒๑ “พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจตราพระราชกฤษฎีกาโดยไม่ขัดต่อกฎหมาย”
                ทั้งหมดทั้งสิ้นนี้ขอถวายเป็นพระบรมราชวินิจฉัยของใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทโดยเด็ดขาดสิ้นเชิงควรมิควรแล้วแต่จะทรงโปรดพระกรุณา

ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมขอเดชะ
ข้าพระพุทธเจ้าพสกนิการชาวไทยที่ได้ร่วมลงนามมาพร้อมนี้
และร่วมลงนามถวายฎีกาเป็นเบื้องต้นในเมื่อวันที่๓ มีนาคม ๒๕๔๙